โครงการจัดแปลหนังสือของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โครงการจัดแปลหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2503 ภายใต้ความรับผิดชอบของ “กองแปลและวิเทศสัมพันธ์” (เดิมใช้ชื่อว่า “กองแปลและการต่างประเทศ”) ซึ่งต่อมาได้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กองการต่างประเทศ” ตามโครงสร้างของ วช. ปัจจุบัน โดยสาเหตุที่มีการจัดตั้งโครงการจัดแปลหนังสือขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากความต้องการข้อมูลทางวิชาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งกำลังเร่งรัดพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ท้องถิ่น และประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่แปลและถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้ วช. ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
วัตถุประสงค์
วช. จัดตั้งโครงการจัดแปลหนังสือขึ้นเพื่อ
1.ผลิตหนังสือแปลที่ให้สาระและความรู้เกี่ยวกับวิชาการและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน พัฒนาการเรียน การปฏิบัติงาน คุณภาพชีวิต ตลอดจนพัฒนาสภาพของชุมชน สังคม และประเทศ
2.ส่งเสริมให้มีจำนวนนักแปลที่มีคุณภาพมากขึ้น
3.พัฒนาศักยภาพในการแปลของนักแปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยและจากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ)
ประเภทของหนังสือที่จัดแปล
เป็นหนังสือประเภทวิชาการและประเภทหนังสือขายดี (bestseller) ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยครอบคลุม 12 สาขาวิชาการของสภาวิจัยแห่งชาติ ดังนี้
1.วิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
2.วิทยาศาสตร์การแพทย์
3.วิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
4.เกษตรศาสตร์และชีววิทยา
5.วิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
6.ปรัชญา
7.นิติศาสตร์
8.รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
9.เศรษฐศาสตร์
10.สังคมวิทยา
11.เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
12.การศึกษา
ผู้สนใจแปลหนังสือ
วช. เปิดโอกาสให้ผู้สนใจที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศและภาษาไทยเป็นอย่างดีเสนอแปลหนังสือให้โครงการฯ ได้ โดยให้ผู้สนใจคัดเลือกหนังสือวิชาการจากร้านหนังสือ ศูนย์จำหน่ายหนังสือทั่วไป หรือสื่อต่างๆ ตามสาขาที่ตนถนัด แล้วจัดทำรายละเอียดตามแบบเสนอขอแปลหนังสือ เสนอกองการต่างประเทศ วช. พิจารณา
คุณสมบัติของผู้เสนอขอแปล
เป็นผู้มีความรู้ทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทยเป็นอย่างดี มีความชำนาญในการแปลเข้าใจเนื้อหาของเรื่องที่จะแปล สามารถถ่ายทอดเนื้อหาจากหนังสือต่างประเทศเป็นภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน สละสลวย ครบถ้วน ตรงตามต้นฉบับภาษาต่างประเทศ และสามารถแปลหนังสือเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
การเสนอขอแปลหนังสือ
ผู้เสนอขอแปลหนังสือต้องจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่เสนอขอแปล ตามแบบเสนอขอแปลหนังสือ และสำเนาหนังสือภาษาต่างประเทศที่จะขอแปล ส่ง วช. พิจารณา
การยื่นเสนอขอแปล
ผู้สนใจแปลหนังสือสามารถยื่นเสนอขอแปลหนังสือได้ตลอดปี
ระยะเวลาการแปลหนังสือ
วช. กำหนดให้ผู้แปลแปลหนังสือให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (รวมระยะเวลาในการตรวจและขัดเกลาภาษา) แต่ผู้แปลสามารถขอเลื่อนส่งต้นฉบับแปลได้ 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 3 เดือน
การติดต่อขอลิขสิทธิ์หนังสือ
วช. เป็นผู้ดำเนินการติดต่อผู้แต่งหรือสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์หนังสือที่เสนอขอแปล โดยลิขสิทธิ์ของหนังสือแปลฉบับภาษาไทย เป็นของ วช.
การจ่ายเงินสมนาคุณการแปลและเงินสมนาคุณการตรวจและขัดเกลาภาษา
การจ่ายเงินสมนาคุณการแปลและเงินสมนาคุณการตรวจฯ เป็นไปตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติว่าด้วยการแปล การตรวจ และการจ่ายเงินสมนาคุณ พ.ศ. 2554 ซึ่งจะเบิกจ่ายให้แก่ผู้แปลและผู้ตรวจฯ หลังจากที่ วช. ได้รับและพิจารณาต้นฉบับแปลแล้วว่ามีความถูกต้อง สมบูรณ์ ตรงกับต้นฉบับภาษาต่างประเทศ
การเผยแพร่หนังสือแปลของ วช.
วช. เผยแพร่หนังสือแปลที่พิมพ์เสร็จในรูปของการจำหน่าย การมอบเป็นอภินันทนาการ และการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ อาทิ โทรทัศน์ วารสาร นิตยสาร เว็บไซต์ วช. จดหมายข่าว วช., ฯลฯ
การสอบถามข้อมูล
ผู้ที่ประสงค์จะเสนอขอแปลหนังสือ หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือแปลของ วช. โปรดติดต่อ กองการต่างประเทศ วช. 196 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือโทร. 02- 561-2445 ต่อ 455, 02-940-6369 และ 02-579-2690 ทุกวันในเวลาราชการ
โครงการจัดแปลหนังสือตามนโยบายของรัฐบาล
ความเป็นมา
โครงการจัดแปลหนังสือตามนโยบายของรัฐบาลเป็นโครงการจัดแปลหนังสือโครงการที่ 2* ของ วช. ที่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2550 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้มีหนังสือแปลประเภทวิชาการ ออกเผยแพร่ แก่ประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ ได้มีโอกาสศึกษาองค์ความรู้ใหม่ๆ จากต่างประเทศ และเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าทางวิชาการและการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์
วัตถุประสงค์
เพื่อผลิตหนังสือแปลที่ให้สาระความรู้ใหม่ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ แก่ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียน อาชีพ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
การดำเนินงานที่ผ่านมา
วช. ได้ดำเนินการผลิตหนังสือแปลภายใต้โครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยมีหนังสือแปลที่ได้ดำเนินการจัดแปล จัดพิมพ์ และเผยแพร่แล้ว ดังนี้
1.เรียนรู้วิทยาศาสตร์ (Learning Science) แต่งโดย Indumati Rao และ C.N.R. Rao ประกอบด้วยหนังสือแปล 4 เรื่อง
1) จักรวาล ระบบสุริยะ และโลก (Universe, Solar System, Earth)
2) โลกของฟิสิกส์และพลังงาน การเรียนรู้หลักการทางฟิสิกส์ (The World of Physics and Energy Learning Physical Principles)
3) โลกของเคมี – โมเลกุล และวัสดุ อากาศรอบตัวเรา ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำ (The World of Chemistry: Of Molecules and Materials, Air around us, All about Water)
4) ชีววิทยาและสิ่งมีชีวิต (Biology and Life)
2.เส้นทางสร้างฝันสู่รางวัลโนเบล ในชีวิตนักวิทยาศาสตร์ (The Beginner’s Guide to Winning the Nobel Prize : A Life in Science) แต่งโดย Peter Doherty
3.ความลับจากสมุดโน้ตของนักประดิษฐ์ (Secrets from an Inventor’s Notebook) แต่งโดย Maurice Kanbar
4.แก้ได้ทุกปัญหาด้วยบุคลิกภาพ (Work It Out) แต่งโดย Sandra Krebs Hirsh และ Jane A.G. Kise
5.แนวทางสู่ความสำเร็จในการสอบ (Exam Success) แต่งโดย Jon Winder
*โครงการแรกใช้ชื่อว่า “โครงการจัดแปลหนังสือของ วช.” จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2503
กรอบการจัดแปลหนังสือของ วช. (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558)
1.ข้าว
2.มันสำปะหลัง
3.ยางพารา
4.โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
5.การบริหารจัดการการท่องเที่ยว
6.การแพทย์และสาธารณสุข
7.วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และเวชภัณฑ์
8.อ้อยและน้ำตาล
9.ปาล์มน้ำมัน
10.พลาสติกชีวภาพ
11.สมุนไพรไทย อาหารเสริมและสปา
12.อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และการค้า
13.การคมนาคมขนส่งระบบราง
14.การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ
15.การศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้
16.ความมั่นคงและปัญหาชายแดนใต้
17.ประชาคมอาเซียน
18.สัตว์เศรษฐกิจ
19.พืชสวน (ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ)
20.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
21.มนุษย์ศาสตร์
22.เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเพื่อรัฐวิสาหกิจชุมชนขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)
23.การวิจัยสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
24.ความหลากหลายทางชีวภาพ
25.นวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน
26.เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านวัสดุนาโน
27.พลังงานทดแทน (ความร่วมมือระหว่างไทย-ต่างประเทศ)
28.ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และบุคคลพิการ
29.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
30.ผลกระทบการใช้แร่ใยหิน และศึกษาวัสดุทดแทน
ที่มา : กรอบการวิจัยที่เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ให้ทุนอุดหนุนปีงบประมาณ 2558 กองบริหารแผนและงบประมาณ (กบง.)
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ผู้ที่ประสงค์จะเสนอขอแปลหนังสือ หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือแปลของ วช. โปรดติดต่อ
กองการต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
วช. 196 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
หรือโทร. 02- 561-2445 ต่อ 455, 02-940-6369 และ 02-579-2690 ทุกวันในเวลาราชการ