ประวัติความเป็นมา
ความคิดที่จะให้รัฐบาลจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 แต่มิได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยนั้น ต่อมาได้มีผู้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและได้พยายามร่างโครงการเสนอความเห็นต่อรัฐบาลอีกจนกระทั่งปีพ.ศ. 2499 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติฉบับแรก โดยแต่งตั้งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์เป็นเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติโดยตำแหน่ง และตั้งสำนักงานเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นที่กรมวิทยาศาสตร์เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งได้กำหนดสาขาวิชาการที่จะวิจัยไว้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์โดยแบ่งออกเป็น 6 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เคมีและเภสัชวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม
ในปี พ.ศ. 2502 รัฐบาลโดย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นว่าการที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญรวดเร็วและสมบูรณ์จริง ๆ จะต้องเร่งรัดพัฒนาทุกด้าน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยจะต้องอาศัยวิชาการทางด้านสังคมซึ่งเกี่ยวกับชีวิตจิตใจประเพณีนิยม และความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานที่จะวางนโยบายพัฒนาประเทศเสียก่อน จึงจะยกระดับทางวัตถุหรือวิทยาศาสตร์ให้ได้ผลแท้จริงต่อไป และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 แทนพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2499 พร้อมทั้งจัดระบบงานและองค์ประกอบของสภาวิจัยแห่งชาติใหม่โดยให้มี "สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ" ปฏิบัติงานให้กับสภาวิจัยแห่งชาติและเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศ
ในปี พ.ศ. 2507 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502 เพื่อกำหนดหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 แก้ไขพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2507โดยมีการเปลี่ยนชื่อ "สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ" เป็น "สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ"
ในปี พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้โอนไปอยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม" เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535)
ในปี พ.ศ. 2543 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้โอนไปอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี โดยมีฐานะเป็นกรม ซึ่งไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อให้สำนักงานฯ ได้มีบทบาทเป็นหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้อย่างแท้จริงตามกฎหมายว่าด้วยสภาวิจัยแห่งชาติรวมทั้งสามารถให้คำปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการวิจัยได้โดยรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งเพื่อให้สำนักงานฯ ได้อยู่ในสายการบังคับบัญชาเดียว คือ ขึ้นตรงกับประธานสภาวิจัยแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรี) ซึ่งตามพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติได้ระบุให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการทำงานของสำนักงานฯ อยู่แล้ว
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ คือ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งในหมวด 21 ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) กำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติแทน
เอกสารคำกล่าวเปิดประชุมสภาวิจัยแห่งชาติ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชย์