วช.ขับเคลื่อนความร่วมมือการวิจัย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค

  • 22 December 2019
  • Author: Admin4
  • Number of views: 2194

ประเทศไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (DBAR)” ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอันเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ Chinese Academy of Sciences (CAS) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในจำนวน 8 ศูนย์ทั่วโลก ที่ได้มีการจัดตั้งในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไทย ฟินแลนด์ อิตาลี ปากีสถาน โมรอคโค รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และแซมเบีย โดยศูนย์ DBAR ที่ วช. เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศนานาชาติแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้รับเชิญให้กล่าวบรรยาย Keynote Speech ในพิธีเปิดการประชุม “4th Digital Belt and Road Conference” ที่เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสาระสำคัญว่า การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับความ ท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโลกเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เป้าหมายของโครงการ ที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และจะช่วยสนับสนุนให้ไทยพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว นอกจากนี้การร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม CASEarth ที่ใช้ระบบข้อมูล Big Earth Data จะช่วยเสริมการดำเนินงานโครงการในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กรุงเทพฯ ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและนานาชาติ จะช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยและภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากกรอบความร่วมมือดังกล่าว


ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กรุงเทพฯ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กับ The Digital Belt and Road (DBAR) Program สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) โดย วช. ร่วมกับอีก 3 หน่วยงาน คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการวิจัยและบูรณาการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย รวมทั้งการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลักคือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และภาวะภัยพิบัติต่าง ๆ โดยทางไทยมีโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ 1) การประเมินความสามารถการจำลองภูมิอากาศของแบบจำลอง CAS-ESM และการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ 2) การประเมินเชิงบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจโลกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รวมทั้งจะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค ASEAN ในการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ ความรู้ เทคโนโลยี และข้อมูล Big Earth Data ผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลหลัก "CASEarth" ซึ่งพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ 1,200 คนจาก 130 สถาบันทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาคอขวดในการเข้าถึงและการแบ่งปันข้อมูล เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมถึงการสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนการดำเนินงานในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน



การประชุม “4th Digital Belt and Road Conference” ได้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 16-19 ธันวาคม 2562 ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือ การสร้างเครือข่าย และการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค ให้บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDGs) ในประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ทำความเข้าใจและสื่อสารปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความท้าทายและความสำเร็จในการใช้ Big Earth Data จากประสบการณ์ในปัจจุบันหรือโครงการที่เสร็จสมบูรณ์ โดยมีนักวิจัยและผู้บริหาร จำนวน 350 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

Print
Tags: