วช. จัดสัมมนายุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ 6 “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และ “ประเทศไทย 4.0” : สู่ความมั่นคง มั่งคั่งร่วม

  • 23 November 2017
  • Author: admin2
  • Number of views: 2802



วช. จัดสัมมนายุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ 6 “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และ “ประเทศไทย 4.0” : สู่ความมั่นคง มั่งคั่งร่วม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies (CSSAS) และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน จัดการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 6 “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และ “ประเทศไทย 4.0”: สู่ความมั่นคง มั่งคั่งร่วม ระหว่างวันที่ 7 - 11 พฤศจิกายน 2560 ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน(ฝ่ายไทย)กล่าวเปิดงาน ร่วมกับ นายสวี่ โย่วเซิง (Mr. Xu Yousheng) รัฐมนตรีช่วยทบวงกิจการชาวจีนโพ้นทะเลปักกิ่ง (ฝ่ายจีน) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560

ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระดับของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยมีความร่วมมือกันในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังนำไปสู่นโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road Policy หรือ The Belt and Road Initiative) ที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้ให้ความสำคัญซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของไทยด้านการเชื่อมโยงภูมิภาค (Connectivity) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาค

การสัมมนายุทธศาสตร์ไทย – จีน ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการไทยและนักวิชาการจีน ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการระหว่างกัน และนำผลการศึกษามาประมวลจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดทำยุทธศาสตร์ ไทย – จีน โดย วช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานหลักของจีน คือ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) สลับกันเป็นเจ้าภาพ และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน ให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรม

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ได้กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนาสรุปได้ว่า จากการเชื่อมโยงโครงข่ายในเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงรุกในกรอบ one belt one road ที่รัฐบาลจีนได้ริเริ่มขึ้นเพื่อขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆของจีนในเวทีโลก จึงกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลของประเทศจีนเป็นยุทธศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย การดึงการลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัจจัยเอื้อให้มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานอาเซียนกับประเทศจีน จึงเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงโครงการต่างๆระหว่างประเทศจีนและอาเซียน ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

และจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดนโยบาย Thailand 4.0 เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่ "Value-Base Economy" หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จากการผลิตสินค้าไปสู่เชิง"นวัตกรรม" รวมทั้งเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และเน้นภาคบริการให้มากขึ้น ซึ่งกรอบแนวคิดดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาทุกระดับของประเทศและจะเชื่อมโยงสู่ระดับภายในประเทศและระดับภูมิภาคให้เชื่อมโยงอาเซียนและประเทศจีนต่อไป โดยคาดหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ทางการวิจัยระหว่างกันทั้งสองประเทศ

สำหรับในปี 2560 นี้ ฝ่ายจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมฯ ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายและการนำเสนอผลงานวิจัย ภายใต้หัวข้อย่อย ได้แก่

1) ความร่วมมือทางการทูต ความมั่นคง และการป้องกัน
2) การลงทุน การค้า การเงิน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
3) การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา
4) การคมนาคม พลังงาน เกษตรกรรม และความร่วมมือทางเทคโนโลยี
5) สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยและอุตสาหกรรมหลัก
6) ชาวจีนโพ้นทะเลในความสัมพันธ์จีน-ไทย

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุม เพื่อหารือและเจราจาความร่วมมือกับฝ่ายจีนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1) การศึกษาเพื่อหากลไกที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยง ระหว่างโครงการความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road – OBOR) ของจีนกับเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ของไทย รวมทั้งช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐต่อรัฐ รัฐต่อภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม
2) การร่วมก่อตั้งสถาบันวิจัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ในพื้นที่ EEC เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ OBCR และ EEC
3) พิจารณากิจกรรมภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือสำหรับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
4) การศึกษาร่วมกันในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล การจัดการชุมชนเมือง (Urban Study) และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

ทั้งนี้ ในการสัมมนาครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานะและบทบาทระหว่าง จีนกับไทย ในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนเพื่อกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย ไทย – จีน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันทั้งสองประเทศ


ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/nrctofficial/posts/1371578852967683

Print
Tags: