วช. เชิดชูนักวิจัยจุฬา เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2564

  • 7 April 2021
  • Author: Wanchaloem
  • Number of views: 1655
วช. เชิดชูนักวิจัยจุฬา เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2564

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมแถลงข่าว NRCT TALK “เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (In-House): 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 4)” เชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้วิชาการและประเทศชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์  รัตนวราหะ “นักวิจัยสาขาปรัชญา”ผู้ที่ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากจำนวน 7 ท่าน ใน 5 สาขา

                    ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT (in-House) : 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 4 เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดย วช. ได้มอบรางวัลให้กับ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์  รัตนวราหะ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญาประจำปี 2564 ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่อศึกษาวิจัยด้านนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น นโยบายและการบริหารจัดการที่ดิน ทั้งภาพรวมในระดับประเทศและระดับเมือง นโยบายการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการขนส่งนอกระบบทางการ อย่างต่อเนื่อง  ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัย ให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์  รัตนวราหะ ศึกษาวิจัยโครงการปริทัศน์สถานภาพความรู้เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย เมื่อปีงบประมาณ 2555 และโครงการนโยบายการพัฒนาโครงข่ายและการเชื่อมต่อในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าเพื่อรองรับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนในบริบทไทย เมื่อปีงบประมาณ 2557 รวมถึงยังได้จัดทำหนังสือผลงานวิชาการ เรื่อง “เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย : ปริทัศน์สภานภาพความรู้” เมื่อปี 2558

                    รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์  รัตนวราหะ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยเกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่จะทำให้การดำรงชีวิตของคนเมืองดีขึ้น อาทิเช่น การเดินทาง “วิจัยพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวัน” ซึ่งงานวิจัยของตนเองสะท้อนความเป็นสหสาขาของงานวิจัยด้านการผังเมือง งานวิจัยจึงมีการผสมผสานกรอบแนวคิดจากหลายศาสตร์และเครื่องมือวิจัยรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งได้นำผลการวิจัยไปขับเคลื่อนต่อเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย งานวิจัยที่ผ่านมาจึงไม่จำกัดอยู่เพียงงานที่มุ่งสร้างองค์ความรู้เชิงทฤษฎี แต่รวมไปถึงการศึกษาเชิงบริการวิชาการและการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อสนับสนุนและผลักดันการวางแผนนโยบาย และการออกมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติ เกิดประโยชน์ในวงการวิจัยและวงการการวางแผนนโยบาย

                    ทั้งนี้ พิธีมอบเหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมประกาศเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติคุณ และเงินรางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 26-30 พฤษภาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

Print
Tags: