วช. และ มข. พร้อมด้วยเครือข่ายระบบสุขภาพในพื้นที่ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ

  • 20 October 2020
  • Author: PMG
  • Number of views: 1658
วช. และ มข. พร้อมด้วยเครือข่ายระบบสุขภาพในพื้นที่ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ

วช.และ มข. พร้อมด้วยเครือข่ายระบบสุขภาพในพื้นที่ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือพัฒนาและขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบเพื่อกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของประเทศภายใน 5 ปี

20 ตุลาคม 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจังหวัดขอนแก่น นำโดย ดร.สมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 7 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น นายอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ได้แก่ เชียงขวัญ ศรีสมเด็จ กันทรวิชัย โกสุมพิสัย เมืองขอนแก่น บ้านแฮด บ้านไผ่ ท่าคันโท และหนองกุงศรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ พร้อมผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการการพัฒนาและขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
 
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยบริหารทุนวิจัยหลักของประเทศ ได้บูรณาการความเชื่อมโยงของภาคส่วน เพื่อให้เกิดระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย โดยวช.ได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ตั้งแต่ปีแรกในปี 2559 โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ (Director) โดยบูรณาการความร่วมมือของนักวิจัย หน่วยดำเนินการสุขภาพในพื้นที่ และระบบการจัดการชุมชน เพื่อมุ่งเกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน 

และจากการดำเนินงานโครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) ตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน พบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง จากการทำวิจัยและนำผลงานวิจัยไปขยายผลในพื้นที่ และการดำเนินงานโครงการวิจัยท้าทายไทย: “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” มาอย่างต่อเนื่อง (ในปีงบประมาณ 2559-2563) ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันลดอัตราผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มเสี่ยงจากร้อยละ 42.8 เมื่อเริ่มดำเนินโครงการ ลดลงเหลือร้อยละ 7 ดังนั้น พบว่าการขยายผลสู่วงกว้างจากความร่วมมือในลักษณะภาคีเครือข่าย จะมีผลจากเป้าหมายในการ ให้พยาธิใบไม้ตับ หมดไปจากประเทศไทยภายใน 5 ปี ผลดำเนินงานได้มุ่งสู่ทิศทางตามเป้าหมายของโครงการที่วางไว้ โดยการนำผลงานวิจัยจาก โครงการวิจัยท้าทายไทย ไปใช้ดำเนินการในอำเภอต้นแบบ ดังนี้

1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
2. สร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน
3. ดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ
4. ดำเนินงานเกี่ยวกับสัตว์รังโรคปลอดพยาธิใบไม้ตับ
5. ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
6. คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
7. พัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน
8. พัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา  “โครงการวิจัยท้าทายไทย: ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ยังมีการตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงแล้วมากกว่า 1,000,000 คน และก่อให้เกิดการจ้างงานของนักศึกษา ในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลตามตามนโยบายของกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อีกด้วย ดังนั้นจากความสำเร็จของโครงการวิจัยท้าทายไทยซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายชัดเจน สามารถให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ (Block grant) อย่างต่อเนื่องหลายปีและมีการบริหารจัดการ ติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบนี้ วช. จึงได้รับมอบหมายจากกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ขยายผลและขับเคลื่อนโครงการวิจัยท้าทายไทยในประเด็นสำคัญต่างๆ ของประเทศในระยะต่อไป

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีท่อน้ำดี ทั้งในประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จึงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมากผ่านโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานเพื่อการอุทิศให้แก่สังคม ซึ่งสถาบันการศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ยินดีที่จะร่วมผลักดันขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ดร.สมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นเองได้สนองรับนโยบายและดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่อยมา มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่เสี่ยง จังหวัดขอนแก่น โดยกำหนดให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นการขับเคลื่อนการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันการศึกษา เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนเป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนและครอบคลุมวงจรการเกิดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จังหวัดขอนแก่น ได้มีโอกาสได้ต้อนรับเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีทั้ง 4 จังหวัด 9 อำเภอ โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและ วช. จึงขอต้อนรับทุกหน่วยงาน ทุกท่าน และจังหวัดขอนแก่นและกลุ่มจังหวัดร้อย แก่น สาร สินธุ์ ก็ขอแสดงความตั้งใจให้ความร่วมมือและเป็นกำลังใจให้กับทุกหน่วยงานในการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบในการกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

Print
Tags: