สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ IBD 2023 “International Conference on B

  • 15 December 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 260
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ IBD 2023 “International Conference on B

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมูลนิธิสวนหลวง ร.9 กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ IBD2023 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ Biodiversity: Key to Better Life (ความหลากหลายทางชีวภาพ กุญแจสู่ชีวิตที่ดีขึ้น) เพื่อแสดงพลังความร่วมมือของบุคคลและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างวันที่ 12 - 13 ธันวาคม 2566 ณ อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม และประทับทรงฟังปาฐกถาพิเศษจาก Keynote Speaker โดย ศ.ดร.เฮนริค บัลสเลฟ มหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก บรรณาธิการร่วมโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย บรรยายเรื่อง “ความร่วมมือในภูมิภาคเหนือใต้ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ-พรรณพฤกษชาติของประเทศไทย” ศ.ดร.ตัน ปวย หยก ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ และกรรมการบริหารสวนสาธารณะแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ บรรยายเรื่อง “บทบาทของสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว กรรมการบริหารอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทย บรรยายเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทย”
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผลงานที่ร่วมแสดงได้แก่
1) การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ: การปรับปรุงพันธุ์โดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา” โดย รศ.ดร.พีรนุช จอมพุก จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2) การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง โดย ผศ.ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
3) การพัฒนาศักยภาพ และแนวทางการใช้ประโยชน์จากพืชสกุลไทร โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าว โดยมี รศ.ดร.พีรนุช จอมพุก และ ผศ.ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ถวายรายงานผลการดำเนินงานวิจัย และ รศ.ดร.พีรนุช จอมพุก ทูลเกล้าถวายต้นเสน่ห์จันทร์เงินด่าง (Homalomena lindenii) ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา
Print
Tags: