อว. สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” สู่ วงซิมโฟนีออร์เคสตรา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

  • 23 June 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 390
อว. สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” สู่ วงซิมโฟนีออร์เคสตรา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดการแสดง “เพลงไทยทางเปลี่ยน” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.อว. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว. และประชาชนร่วมงาน ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะดนตรีจากโครงการพื้นที่ทางนวัตกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ดำเนินการ โดย ศ.ดร.สุกรี เจริญสุข มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เป็นปีที่ 3 เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรม สร้างจินตนาการเพลงพื้นบ้าน “เพลงไทยทางเปลี่ยน” พื้นที่ทางนวัตกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาสร้างสรรค์จินตนาการเสียงใหม่ ผ่านวงซิมโฟนีออร์เคสตรา และวงดนตรีไทย วงปี่พาทย์

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า กระทรวง อว.ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับอาจารย์สุกรี ผ่าน วช. เพื่อไปทำการศึกษาวิจัยเพลงพื้นบ้าน ทำให้ทราบว่าแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมีเพลงพื้นบ้านทุกจังหวัด บางจังหวัดมีเป็นพัน ๆ เพลง แต่ตอนนี้เพลงพื้นบ้านกำลังจะสูญหาย ที่มีอยู่และถูกนำมาร้องเป็นเพลงท่วงทำนองใหม่มีไม่มากนัก จึงอยากสนับสนุนอาจารย์สุกรี ทำวิจัยเพลงพื้นบ้าน เรียบเรียงทำนองผสมผสานกันผ่านวงซิมโฟนีออร์เคสตรา

รมว.อว. กล่าวต่อว่า อว. มีหน้าที่บริหารระบบวิจัย และยังมีหน้าที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ เศรษฐกิจที่ใช้กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เรื่องที่ 2 ต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงเศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยว เศรษฐกิจที่อิงอยู่บนศิลปะสุนทรียะ อว. ตระหนักถึงความเป็นไทย ในโลกทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากความเป็นไทยเมื่อหลาย 10 ปี ก่อน ซึ่งตัวผมเองตอนเด็ก ๆ ผมรู้ว่าความเป็นไทยจะหายไป รู้สึกเสียใจ และเสียดาย จึงตัดพ้อว่าทำไมคนปัจจุบันไม่สนใจเพลงที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา เคยขับร้อง เคยเล่นดนตรี สืบทอดกันมา เวลาทำก็รู้สึกค่อนข้างท้อแท้ กลัวว่ามันจะหายไปพร้อมกับความเป็นตะวันตกที่เข้ามาแทน แต่ปัจจุบันความเป็นไทยไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ทุกวันนี้ความเป็นไทยกลายเป็นอะไรที่น่าพิศวง เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก
และขณะนี้ ประเทศไทยเป็นเมืองที่ทั่วโลกอยากจะเดินทางมาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเนื่องจากอุปนิสัยใจคอของคนไทยได้รับการยกย่องชมเชยจากทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการวิชาการก็บอกว่าอยากจะมาทำการวิจัยที่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยน่าอยู่ อาหารไทยก็เป็นที่ชื่นชอบ สปาสมุนไพรและนวดไทยก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติชอบ ผมจึงคิดว่าดนตรีไทยก็มีศักยภาพที่เป็นดนตรีระดับโลกได้เช่นเดียวกัน ผมมีความเชื่อว่า ความเป็นไทยมีความลึกซึ้ง มีเอกภาพ เอกลักษณ์ไม่เหมือนกับประเทศอื่น ผมคิดแบบนี้ จึงสนับสนุนอาจารย์สุกรี เพราะท่านไม่ได้ทำวิจัยเพื่อวิจัยแต่ทำเพราะใจรัก และมีความลุ่มหลงดนตรี มีความศรัทธาต่อดนตรีมากที่สุด

ทั้งนี้ การแสดงเพลงไทยทางเปลี่ยน เป็นการเล่นดนตรีเปลี่ยนทางไปจากทางเดิม ในขณะที่เพลงและเครื่องดนตรีอื่นในวงก็ยังคงดำเนินการบรรเลงต่อไปในแนวทางเดิม นักดนตรีที่เดี่ยวเครื่องดนตรีที่เล่นทางเปลี่ยน อาจจะเล่นคนเดียวหรือจะเล่นทางเปลี่ยนกันทั้งวงก็เป็นได้ การสร้างเสียงใหม่ในครั้งนี้ ได้เรียบเรียงบทเพลงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ดร.ปิยะวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ โดยนำเพลงพื้นบ้านภาคกลางของไทย ซึ่งสืบทอดและสั่งสมกันมาหลายร้อยปี มาแสดงออกในรูปแบบของวงปี่พาทย์ร่วมกับทางวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อจะเปลี่ยนวิธีนำเสนอเพลงในโอกาสต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเปลี่ยนของดนตรีเพื่อดนตรีในโลกอนาคต

เพลงไทยทางเปลี่ยน ที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย เพลงสาธุการ เพลงกราวใน ทางจะเข้ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง
เพลง Rong-Ngang Suite เพลงสังกะอู้ เพลงบินหลาบอง เกาะลิบง เพลงชเวดากอง เพลงพัดชา เพลงหัวใจกลับสู่ร่าง (กราวใน) เพลงอะไยจ๊ะกร้าบ เพลงแอกแครง เพลงแฮปปียา นอกจากนี้ ยังมีการขับร้องเพลงชมหมู่ไม้ เพลงมะนาวไม่มีน้ำ และเพลงสุขกันเถอะเรา จากวงปล่อยแก่ วช. ซึ่งระหว่างการบรรเลงเพลง ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลงการแสดงดนตรี ด้วย
Print
Tags: