วช. จับมือ รร.นรต. KICK OFF นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย พร้อมส่งต่อนวัตกรรมสู่การเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรม หวังใช้ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้กระทำผิดซ้ำ

  • 29 June 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 419
วช. จับมือ รร.นรต. KICK OFF นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย พร้อมส่งต่อนวัตกรรมสู่การเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรม หวังใช้ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้กระทำผิดซ้ำ
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดการประชุมเผยแพร่ผลการดำเนินแผนงานนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทยเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ และส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด เพื่อนำเสนอและส่งต่อผลผลิตจากงานวิจัยที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยมี พล.ต.ท.ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวเปิดการประชุม และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวนโยบายการผลักดันนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทยเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ พร้อมด้วย ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ ห้อง Grand Hall 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร และรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM

พล.ต.ท.ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า ข้อมูลการติดตามการกระทำผิดซ้ำรอบ 1 ปี ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีสถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดทั้งสิ้น 1,892 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกจับซ้ำถึง 372 คน คิดเป็นร้อยละ 19.66 ทำให้หลายหน่วยงานต่างให้ความสำคัญต่อการค้นหาสาเหตุเชิงลึกของปัญหาการกระทำผิดซ้ำเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ได้ขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมซึ่งเป็นผลผลิตจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยการเชื่อมโยงผลผลิตที่สำคัญจาก 3 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ 1. การใช้เทคโนโลยียุติธรรมอัจฉริยะ 2. การเสริมพันธะทางสังคมด้วยภาคีเครือข่าย และ 3. การแก้ไขการตีตราด้วยยุติธรรมทางเลือก และมีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดรายเก่าให้หมดไปและป้องกันผู้กระทำผิดรายใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยทางด้านการอำนวยความยุติธรรมและการบริหารงานยุติธรรมในหลายมิติ จึงให้การสนับสนุนแผนงานวิจัยท้าทายไทย แก่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้เกิด “นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทยเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด” อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าเพื่อให้เกิดผลผลิตด้านนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนเกิดการขยายผลสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ต้องเกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการป้องกันการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนสู่การปฏิบัติจริง เกิดผลผลิตจากการดำเนินงานที่ต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนประเทศในสังคมยุคดิจิทัล และก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรม รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการให้โอกาสและเสริมสร้างการมีจุดยืนในสังคมให้แก่เยาวชนที่กระทำผิด ให้มีความเข้มแข็งทางจิตใจ ตลอดจนสร้างงานสร้างอาชีพที่สามารถนำไปดำรงชีพได้ซึ่งจะสามารถทำให้เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ และไม่มีเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้กระทำผิดรายใหม่เกิดขึ้น

ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “3 ปีสู่การขับเคลื่อนและส่งมอบงานวิจัย นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย เพื่อการป้องกันการกระทำความผิดและส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชน” ว่า แผนงานวิจัยดังกล่าวนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 โดยมีผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย จำนวนทั้งสิ้น 8 นวัตกรรม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการขยายผลและต่อยอดผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติในเชิงรูปธรรม และผลักดันให้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขและป้องกันการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุม ทั้งกลุ่มที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานในสังกัดของกรมพินิจฯ กลุ่มที่เคยกระทำความผิดและได้รับการปล่อยตัวกลับคืนสู่สังคมและกลุ่มที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือเสี่ยงต่อการกระทำความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรม จนเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาวิทยาการทางด้านกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในทุกมิติ

ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เปิดเผยว่า สาเหตุเชิงลึกของพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน เพื่อน สื่อสังคมออนไลน์ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ โดยเฉพาะการดำเนินการแบบเชิงรุกให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ลดการตีตรา และให้การยอมรับเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด อันจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีพลังใจเชิงบวกและความมุ่งมั่นในการกลับตนเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต และตระหนักได้ว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “นวัตกรรมสู่ผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการอํานวยความยุติธรรม สำหรับเด็กและเยาวชน” ภายใต้แผงงานนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทยเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด โดยมี นางสาวสาลี ผลจันทร์ ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 1 จ.ระยอง, นางสาวพิชญ์สินี พรหมยานนท์ บริษัท อูซูอิ อินเตอร์เนชั่นแนลคอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด, ร.ต.ท.ปฏิภาณ อินเอี่ยม รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง, ร.ต.จิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, นายชลชาติ พานทอง อาชีพอิสระ และนายภิญโญ ม่วงสมสุข สำนักงานประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช.

การเผยแพร่ผลการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงานรวมทั้งข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 แพลตฟอร์มที่นำไปสู่ผลสำเร็จ ได้แก่ 1. นวัตกรรมทางเทคโนโลยียุติธรรมอัจฉริยะ เกิดแอปพลิเคชันสื่อกลางการสร้างโอกาสทางอาชีพ และโปรแกรม Buddy Cop Program ซึ่งเป็นช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้คำปรึกษา กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง 2. นวัตกรรมการเสริมพันธะทางสังคมด้วยภาคีเครือข่าย การใช้กลไกทางด้านจิตวิทยา สังคมในการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ด้านการเห็นใจและการช่วยเหลือผู้อื่น รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและ 3. การแก้ไขการตีตราด้วยยุติธรรมทางเลือก โดยใช้รูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของรัฐไปใช้ในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำ ซึ่งสามารถขยายผลต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และจะเป็นต้นแบบในการขยายผลการใช้นวัตกรรมนี้ในหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
Print
Tags: