วช. ร่วมขับเคลื่อนหนองบัวลำภู Model ด้านสิ่งแวดล้อมและภาคการเกษตรด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

  • 21 February 2020
  • Author: Admin4
  • Number of views: 1907

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ แถลงผลการดำเนินงานจากโครงการวิจัยท้าทายไทย ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกับนายวรรณพล ต่อพงษ์ ปลัดจังหวัดหนองบัวลำภู และ ศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย (Director) พร้อมมอบเตาเผาถ่านไบโอชาร์สำหรับการขยายผลในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหนองบัวลำภูเพื่อใช้ในการลดสารเคมีในน้ำอุปโภคบริโภค

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อร่วมการขับเคลื่อน “หนองบัวลำภู Model” เป็นการร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการใช้สารเคมีภาคการเกษตร และการลดผลกระทบของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์จังหวัดหนองบัวลำภู ที่มุ่งเน้น “การลดการใช้สารเคมีภาคการเกษตร” ทั้งนี้การขับเคลื่อน “หนองบัวลำภู Model” โดยการวิจัยและนวัตกรรม ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้น กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)กับจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ใช้โครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายชัดเจนภายใต้ “โครงการวิจัยท้าทายไทย” เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและตามระเบียบวาระแห่งชาติเรื่อง “การลดการใช้ งานและการจัดการสารเคมีปราบศัตรูพืชในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู” ที่วช.สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชลงร้อยละ 40 จากปริมาณการใช้สารเคมีทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูภายใน 3 ปี โดยมีการบูรณาการความร่วมมือของนักวิจัย หน่วยงานในจังหวัดหนองบัวลำภู และชุมชน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จากการนำผลการวิจัยไปใช้ในพื้นที่ โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรปลอดสารเคมีเพิ่มขึ้น 57.86% หรือ 1.57 เท่า และสามารถลดการใช้สารเคมีลงร้อยละ 42 ภายในระยะเวลา 1 ปี

ทั้งนี้โครงการวิจัยท้าทายไทยเป็นทุนวิจัยขนาดใหญ่ (Block grant) มีการบริหารจัดการ ติดตามและประเมินผลที่มุ่งผลสำเร็จในเชิงผลลัพธ์และผลกระทบ วช.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ให้ขยายผล และขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก โครงการ “การลดการใช้งานและการจัดการสารเคมีปราบศัตรูพืชในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู” จะสามารถขยายผลสู่วงกว้างเพื่อให้เกิดการลดการใช้สารเคมีควบคู่กับการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

Print
Tags: