วช. หนุน มทร.ศรีวิชัย เสริมงานวิจัย “ธนาคารปูม้า” เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ เพิ่มทางรอดปูม้าไทยคืนสู่ท้องทะเล

  • 15 July 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 447
วช. หนุน มทร.ศรีวิชัย เสริมงานวิจัย “ธนาคารปูม้า” เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ เพิ่มทางรอดปูม้าไทยคืนสู่ท้องทะเล
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงาน โครงการวิจัยเรื่อง “การฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนธนาคารปูม้าพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดตรังและกระบี่” ภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้า สู่ทะเลไทย” ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิกิจ ผินรับ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัย พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายนิรัต ทองพรัด ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหาดทรายทอง นายบุญนำ อมรสิริปัญญา ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ปูม้าและธุรกิจอาหารทะเล และผู้นำชุมชนให้การต้อนรับ ณ ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนธนาคารปูม้าพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดตรังและกระบี่ นั้น ได้ดำเนินโครงการธนาคารปูม้าชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน มีธนาคารปูม้าชุมชนจำนวน 64 แห่ง และศูนย์เรียนรู้จำนวน 13 ศูนย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 77 แห่ง (9 อำเภอ 54 ชุมชน) จังหวัดตรังจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสิเกา อำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ จังหวัดกระบี่จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองท่อม อำเภอเหนือคลอง อำเภอเกาะลันตา อำเภอเมือง และอำเภออ่าวลึก ในปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินการปรับปรุงสถานที่จัดตั้งเพื่อพัฒนาธนาคารปูม้าชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้พร้อมทั้งติดตั้งชุดสื่อการเรียนรู้และนิทรรศการในการขับเคลื่อนธนาคารปูม้าชุมชนสู่ความยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ เพิ่มจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารปูม้าบ้านคลองยวน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และธนาคารปูม้าบ้านหาดยาว อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง นอกจากนี้ได้สนับสนุนและบำรุงรักษาวัสดุและอุปกรณ์ในการทำธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟักชุมชนให้กับธนาคารปูม้าและศูนย์เรียนรู้ของจังหวัดตรังและกระบี่จำนวน 77 แห่ง อาทิ ระบบน้ำ ระบบไฟ ระบบให้อากาศ ถังเพาะฟัก เป็นต้น จัดกิจกรรมวันกินปูม้าตรัง ครั้งที่ 3 เป็นระยะเวลา 2 วัน เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ธนาคารปูม้าชุมชนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูม้ารวมทั้งกลุ่มเกษตรกรแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าประมงจังหวัดตรัง มีรายได้และยอดขายเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายอาหารหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูม้าในการออกร้านจำหน่ายปูม้า ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวได้สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์สินค้าจากเครือข่ายธนาคารปูม้าจังหวัดตรัง ได้แก่ ปูม้านึ่ง นักเก็ตปูม้า ทอดมันปูม้า จ๊อปูม้าเกาะสุกร ปูม้าจ๋า ปูม้าดองน้ำปลา น้ำพริกปูม้า และข้าวผัดปูม้า เป็นต้น สู่การผลักดันผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูม้าให้ได้มาตรฐานการผลิต GMP และได้รับการรับรองคุณภาพสินค้าตราสัญลักษณ์ประมงธงเขียวและเครื่องหมายฮาลาลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จากกิจกรรมดังกล่าวที่จัดขึ้นมีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานและซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ปูม้ามากกว่า 3,000 คน ตลอดระยะเวลา 2 วัน มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 300,000 บาท ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ได้มีการนำปุ๋ยส่วนผสมจากเปลือกปูม้ามาใช้ในการปลูกแตงโมแบบโรงเรือนต้นแบบ (แตงโมลอยฟ้า) เกาะสุกร จังหวัดตรัง ที่สามารถปลูกนอกฤดูการเก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และมีรสชาติที่หวานกรอบ มีความหวานอยู่ที่ 12.3 บริกซ์ ซึ่งความหวานของแตงโมมาตรฐานปกติจะอยู่ที่ 10-12 บริกซ์ เนื่องจากเปลือกปูม้ามีธาตุอาหารในส่วนของแมกนีเซียมและแคลเซียมอยู่ในปริมาณที่มากซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชทำให้พืชเจริญเติบโตและแข็งแรงดี โดยใช้ปุ๋ยส่วนผสมเปลือกปูม้าในการปลูกแตงโมลอยฟ้าจำนวน 320 กิโลกรัมต่อไร่และทีมนักวิจัยได้ผลักดันกิจกรรมเพื่อสังคมได้ชักชวนชาวประมงในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชนในพื้นที่ร่วมกันปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ในการทำธนาคารปูม้า และการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าด้วยการปลูกจิตสำนึกกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าไทยให้ยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหาดทรายทอง และศูนย์เรียนรู้ปูม้าและธุรกิจอาหารทะเล ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง จะเห็นได้ว่าการใช้ประโยชน์จากการวิจัยจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและบูรณาการให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้าในท้องทะเลไทยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผลสำเร็จในการฟื้นฟูและการจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปูม้าจะช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ยกระดับการท่องเที่ยว สู่การอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าไทยที่ยั่งยืนต่อไป

สำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่แปรรูปจากปูม้า และองค์ความรู้จากการวิจัยภายใต้โครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้า สู่ทะเลไทย” ทีมนักวิจัยจะนำมาจัดแสดงนิทรรศการและจัดจำหน่ายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 : Thailand Research Expo 2023” ที่ วช. กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
Print
Tags: