วช. และ HQU พร้อมร่วมมือและส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

วช. และ HQU พร้อมร่วมมือและส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 12 และ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ จังหวัดชลบุรี ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยได้รับเกียรติจากนางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ และ Professor WANG Qiubin คณบดีวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชน เป็นผู้แทนฝ่ายไทยและจีนในพิธีปิดการสัมมนาฯ

 

นางสาวเสาวนีย์ฯ ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยหัวเฉียว นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะนักวิจัย ที่มาประชุมร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทางยุทธศาสตร์และข้อคิดเห็นของนักวิชาการทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือกับจีนแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศด้วย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของ วช. ที่มุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ โดยคาดหวังว่า ผลการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้มีการวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิชาการไทย-จีน อันจะทำให้มีการนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยมาเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลได้พิจารณานำไปใช้ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป อีกทั้งในปีหน้าครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เชื่อมั่นว่าความก้าวหน้างานวิจัยของทั้งสองประเทศจะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็งและเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

 

พร้อมกันนี้  Professor WANG Qiubin คณบดีวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวยินดีกับความสำเร็จในการจัดการสัมมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 13 โดยการสัมมนาฯ ที่ผ่านมาหลายปี ทำให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางการวิชาการต่อทั้งสองประเทศ ในส่วนของเส้นทางสายไหมของศตวรรษที่ 21 หรือ One Belt One Road ของประเทศจีนที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านพร้อมไปกับการสร้างความมั่นคงและมั่นใจว่าเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลของจีนกับประเทศต่างๆ จะนำพาความรุ่งโรจน์แก่ประเทศจีนและประเทศต่างๆ มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเป็นที่น่ายินดีที่การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ มีนักวิจัยมาจากหลากหลายสาขาวิชาการ ซึ่งผลการวิจัยที่ได้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนในอนาคตต่อไป พร้อมทั้ง กล่าวยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่เมืองเชี่ยเหมิน ประเทศจีน ในการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 14 ในปี 2568 ซึ่งจะจัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของ   การเฉลิมฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

 

อนึ่ง การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 14 ในปี 2568 จะจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี และร่วมกันสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและราบรื่น โดยมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและต่อเนื่องตลอดมา เฉกเช่นเดียวกับการขับเคลื่อนกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวที่มีมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2555

Print
Tags: