อว. ดันเศรษฐกิจฐานรากภาคเหนือตอนบน หวังเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมชุมชนในยุค New Normal

  • 12 April 2021
  • Author: PMG
  • Number of views: 1433
อว. ดันเศรษฐกิจฐานรากภาคเหนือตอนบน  หวังเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมชุมชนในยุค New Normal

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนการอบรมโครงการ การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ มุ่งพัฒนาทักษะองค์ความรู้ ศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองที่มีความแตกต่างและโดนเด่นตามความต้องการของตลาดในยุค New Normal
(วันนี้ 28 มีนาคม 2564) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง สำหรับตลาดในยุค New Normal Creative Design Competency Enhancement of Local Craft Entrepreneurs for New Normal Market Workshop” หรือ Koyori Project 2021 พร้อมเยี่ยมชมผลงานวิจัยเด่น ด้านศิลปและวัฒนธรรม ณ ห้องประชุมโพธิพุทธ ชั้น 4 อาคารเรียนรวมและศูนย์พัฒนาเทคโนโลยี เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาล้านนา คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (เจ็ดยอด) ตำบลช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ โดย วช. ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดการอบรมมีผู้ร่วมโครงการอบรมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน เพื่อพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองในเขตภาคเหนือตอนบน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองให้มีความโดดเด่นตรงตามความต้องการของตลาดในยุค New Normal โดยเน้นใช้นวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และศึกษาความต้องการทางการตลาดของสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง และช่องทางการตลาดที่เหมาะสม ให้ผู้ประกอบการหัตถกรรมในเขตภาคเหนือเพื่อสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง พร้อมขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการชุมชนทั่วไป ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างการเรียนรู้ ฝึกอาชีพ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ โดย วช. ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมโครงการ เรื่อง “การยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์” แก่ ดร. สุรพล ใจวงศ์ษา แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
ด้าน ดร. สุรพล ใจวงศ์ษา เปิดเผยว่า คณะนักวิจัย ได้ร่วมกับสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่การอบรมเพิ่มทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ Koyori โดยดึงเอาจุดเด่นของวัฒนธรรมในแต่ละผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผสมผสานกับแนวคิด การออกแบบแฟชั่นดีไซน์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากไทยและต่างชาติ พัฒนาเอกลักษณ์และการเสริมคุณค่า หัตถกรรมพื้นบ้านในเขตภาคเหนือตอนบน โดยมุ่งเน้นในการพัฒนา 4 ด้าน 

ได้แก่ 1) ด้านผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีความแตกต่างและโดดเด่นที่ตรงกับความต้องการของตลาดโดยใช้นวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ตลอดห่วงโซ่ 2) ด้านการตลาด เน้นการพัฒนาตลาดอนาคตสำหรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ หัตถกรรมในเขตภาคเหนือตอนบนที่เหมาะสมและเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้ digital marketing platform และการเชื่อมโยงกับการตลาดยุคใหม่ยุค new normal 3) ด้านการสร้างแบรนด์ เน้นการเสริมสร้างเอกลักษณ์และเพิ่มคุณค่าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรมด้วยทุนทางวัฒนธรรม การออกแบบสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และการประชาสัมพันธ์สู่ภายนอก และ 4) ด้านการสร้างเครือข่าย เน้นในการเชื่อมโยงระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิต ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเพื่อการพัฒนาและเพิ่มคุณค่าของสินค้าโดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ และการศึกษาและประเมินถึงผลกระทบจากโครงการ โดยโครงการคำนึงถึงมิติการพัฒนา 4 ด้าน คือด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากรากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ในเขตภาคเหนือตอนบนมุ่งเน้นที่จังหวัดรอง ได้แก่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ - ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ที่สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างร่วมสมัย และเกิดพลังขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นในภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 88 คน ที่ประกอบด้วยอาจารย์ผู้บรรยายและที่ปรึกษาจากต่างประเทศ นักออกแบบรุ่นใหม่ ครูช่างผู้ประกอบการหัตถกรรม OTOP และกลุ่มหัตถกรรมในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง

 

Print
Tags: