คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คว้ารางวัลสูงสุด Grand Prize จากงาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
นักประดิษฐ์นักวิจัยไทยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัล Grand Prize จากงาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ จากผลงานเรื่อง “ยานพาหนะสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสี” โดยทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย ที่ได้นำผลงานมาประกวดในครั้งนี้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยงชัย นิละนนท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร และ Mr. Chan Wai Zhong แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประดิษฐกรรมดังกล่าว เป็นยานพาหนะที่พัฒนาขึ้น สำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ภายในถูกแบ่งพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนผู้ขับ, ส่วนพื้นที่ส่วนปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และส่วนปฏิบัติการทางรังสี สามารถป้องกันการแพร่กระจายของรังสีเอ๊กซ์ได้ ทีมผู้ประดิษฐ์ได้คิดค้นเพื่อตรวจวิเคราะห์วินิจฉัยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยให้บริการแบบ one-stop service ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการ โดยจะทำการแสกนวิเคราะห์ผลและปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบ real time
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทีมนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลสูงสุด Grand Prize พร้อมเหรียญรางวัลในระดับต่างๆ และรางวัลสำคัญจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ อีกเป็นจำนวนมาก ในเวที “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ณ D’ Marquee, Downtown East สาธารณรัฐสิงคโปร์
สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ อีก 4 ผลงาน ได้แก่
- ผลงานเรื่อง “โดรนขนส่งสัมภาระด้วยระบบ 4G/5G” โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล, นายอภิลักษณ์ สุรเกียรติสมบัติ และนายพงศภัค เสนาภักดิ์ จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับรางวัลจาก Technical Vocational Training Corporation ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (Innovation Award Winner)
- ผลงานเรื่อง “เพื่อนใจในจักรวาลนิรมิต” โดยนางสาวพณิดา โยมะบุตร และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลจาก Innovation Design & Entrepreneurship Association สิงคโปร์ (Future Technology Excellence Award)
- ผลงานเรื่อง “นาโนชีท®: ระบบนำส่งสารจากวัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ” โดย นางสาวพัชรภัค สุริวงศ์ และคณะ จากบริษัท นาโนยีน จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับรางวัลจาก Innovation Design & Entrepreneurship Association สิงคโปร์ (Most Disruptive Startup Award)
- ผลงานเรื่อง “ไฮบริดชัวร์: เทคโนโลยีการตรวจ ความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ลูกผสมด้วย ดีเอ็นเออย่างรวดเร็วและแม่นยำ” โดย ดร.วิรัลดา ภูตะคาม และคณะ จาก ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับรางวัลจาก Innovation Design & Entrepreneurship Association สิงคโปร์ (Best ASEAN Award)
และในเวที WoSG ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยได้คว้าเหรียญรางวัลในระดับต่างๆ ดังนี้
-เหรียญทอง 10 ผลงาน
-เหรียญเงิน 8 ผลงาน
-เหรียญทองแดง 5 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prize จากประเทศต่างๆ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและร่วมแสดงแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที WoSG พร้อมกล่าวชื่นชมทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทย ในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง โอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับ 16 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลในเวที WorldInvent Singapore 22+23 (WoSG) ได้แก่
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• มหาวิทยาลัยบูรพา
• มหาวิทยาลัยมหิดล
• มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี
• โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
• โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
• โรงเรียนสายปัญญารังสิต
• สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
• การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
• บริษัท เซน อินโนเวชั่น กรุ๊ป จำกัด
• สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ