รัฐมนตรี อว.ปาฐกถาพิเศษ “Rising Minds: จุดประกายนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่เครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตชาติ” มุ่งส่งเสริมศักยภาพนักวิจัย ดันให้ผลงานตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรมระดับโลก

รัฐมนตรี อว.ปาฐกถาพิเศษ “Rising Minds: จุดประกายนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่เครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตชาติ” มุ่งส่งเสริมศักยภาพนักวิจัย ดันให้ผลงานตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรมระดับโลก
















วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน “การประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567” (TSRI Research and Development Personnel Network Forum 2024 TSRI-RPN 2024:

Preparing Today for Tomorrow’s Challenges) และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Rising Minds : จุดประกายนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่เครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตชาติ” โดยมี ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว. กล่าวต้อนรับ และมี นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.,ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ กสว., ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการ PMUs นักวิจัยอาวุโส นักวิจัยรุ่นใหม่ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โรงแรม เดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี

งาน “การประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567” (TSRI Research and Development Personnel Network Forum 2024 TSRI-RPN 2024: Preparing Today for Tomorrow’s Challenges)“ จัดโดย สำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีหัวใจสำคัญคือการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ร่วมกับนักวิจัยอาวุโสผู้มีประสบการณ์และมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้เปิดตัวแผนพัฒนากำลังคนภายใต้แนวคิด "บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ" มุ่งให้ไทยเป็นผู้นำด้านการเสริมศักยภาพบุคลากรยุคใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเป็นที่น่ายินดีที่ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้สนับสนุนข้อเสนอโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเต็มที่ ทั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง รวมถึง 2 วาระสำคัญเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยากให้นักวิจัยของไทยมุ่งมั่นผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในทุกมิติ ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะสังคม เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญจะต้องมีกระบวนการมี ส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนเพื่อกำหนดโจทย์วิจัยและความต้องการของตลาดเพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตจากงานวิจัยจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และขอชวนทุกท่านมาร่วมกันคิดและขับเคลื่อนแนวทาง "การจุดประกายนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่เครือข่ายความร่วมมือเพื่ออนาคตชาติ" ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแนวทางสำคัญใน 4 ประเด็น คือ 1.) การบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่านการโค้ชชิ่ง การให้คำปรึกษา และการเรียนรู้จากนักวิจัยที่มีประสบการณ์ 2.) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข็มแข็ง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างสถาบัน หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน 3.) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่อย่างแม่นยำ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและ
4.) การสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยทุกท่าน มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายปลายทาง ด้วยแนวคิด Begin with the End in Mind โดยตั้งคำถามว่า งานวิจัยของเราจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและประเทศได้อย่างไร ซึ่งตนเชื่อมั่นว่างานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศก็จะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องต่อไป
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ รวมถึงพัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการการขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม และหลักฐานในการพัฒนาคือการผลิตบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่มีทักษะสูงให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยงานนี้เป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยอาวุโส ให้ได้พบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ และสร้างความตระหนักถึงการทำการวิจัยที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาของประเทศได้ รวมถึงเป็นการเร่งสร้างผลงานวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ศ.เกียรติคุณ คร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. บรรยายถึง การขับเคลื่อนอนาคตไทยด้วย ววน. : ปลดล็อกศักยภาพ เร่งผลิตและพัฒนากำลังคน รองรับการลงทุนใหม่เพื่อยกระดับประเทศ โดยกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอาชีพนักวิจัย โดยเป็นเวทีที่นักวิจัยจากหลากหลายศาสตร์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและพัฒนากำลังคนในวงการวิจัย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เติบโตต่อไป ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ปฏิรูประบบการศึกษาและวิทยาศาสตร์ โดยการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนานโยบายและโครงสร้างองค์กรให้ชัดเจน โดยในปี 2562 หลังการปฏิรูป กระทรวงอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบ ววน. ให้ชัดเจนทั้งเชิงนโยบายประเทศ และเชิงโครงสร้างขององค์กร ซึ่งเครื่องมือที่ปรากฏขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ กสว. นั่นเอง โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดของ กสว. คือ การขับเคลื่อนการวิจัย กองทุน ววน. ใช้ทรัพยากรราว 1.9 หมื่นล้านบาท/ปี โดยใน 5 ปี นี้ กสว. ได้มองเห็นภาพการบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวม โดยจัดสรรผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ จัดสรรโดยตรงตามหน้าที่ของหน่วยงานในระบบ ววน .(Fundamental Fund : FF) และจัดสรรผ่านหน่วยงานให้ทุน (PMU) จำนวน 9 หน่วยงาน ซึ่งจะจัดสรรทุนตามพันธกิจอันสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ (Strategic Fund : SF) ที่รองรับการสนับสนุนงานวิจัยในทุกด้านสำหรับผลผลิตด้านกำลังคน ววน. ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนในปี 2565-2566 มีจำนวนรวม 547,155 คน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บรรยายถึง บทบาทสำคัญของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนเส้นทางอาชีพของนักวิจัยไทย ผ่านกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริม ววน. ตามมิตินโยบายสำคัญตามมติ กสว. ขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของ ววน. ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศ ในประเด็นสำคัญ 5-10 เป้าหมาย มีเป้าหมายกรอบเวลาซัดเจน จัดการสนับสนุนงบประมาณแบบ Multi-year เละ Block Grant อย่างแท้จริง งบโครงการต่อเนื่อง 63.7% สนับสนุนให้มีบุคลากรใหม่ด้านการวิจัยเพิ่มขึ้น ส่งเสริมนักวิจัยใหม่และการใช้ประโยชน์จากบุคลากรวิจัยร่วมกัน สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ ร่วมมือ ร่วมลงทุบกับกลไกงบประมาณต่าง ๆ ของประเทศ มีงบร่วมลงทุนจากภายนอก โดยเฉพาะการให้ทุนสนับสนุนที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ การสร้างความเชื่อมโยงกับนักวิจัยอาวุโส และการส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีบุคลากรวิจัยและนวัตกรรจำนวนและคุณภาพเพียงพอ รวมถึงให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีเส้นทางอาชีพด้านวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน รักษาและใช้ประโยชน์บุคลากรวิจัยและนวัตกรรมแต่ละสาขาอย่างเต็มศักยภาพและมีระบบนิเวศที่สนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม TSRI Research and Development Personnel Network Forum 2024 นี้ เป็นเวทีสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศเวทีนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะ ความมั่นใจ และแนวทางในการพัฒนาผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในระดับชาติและนานาชาติ และเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างขับเคลื่อนด้วยวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านวิจัยและนวัตกรรมระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
ถัดมา เป็นการเสวนาในหัวข้อ “เสวนาทิศทางการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”โดย นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานในระบบวิจัย
ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้ กระทรวง อว. ได้ร่วมจัดงานประชุมเครือข่ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 TSRI Research and Development Personnel Network Forum 2024: Preparing Today for Tomorrow’s Challenges ภายใต้วิสัยทัศน์ “SRI for ALL” ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายบุคลากรด้าน ววน. ของประเทศ โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับความท้าทายในอนาคต ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันประเทศไทย และสร้างความเข้มแข็งในระดับนานาชาติต่อไป
Print