วช.จับมือตำรวจไทย ชู 3 platform ท้าทายไทย เร่งแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม สำหรับเด็กและเยาวชน 4.0 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

  • 6 March 2020
  • Author: Admin4
  • Number of views: 2318

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดเสวนา การนำผลสำเร็จของการดำเนินงานไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อน “โครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มกระบวนการยุติธรรมรองรับ 4.0” โดยมี 6 เป้าหมายที่เป็นประเด็นท้าทาย ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่ 1) สร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในแง่ของการป้องกัน การปราบปราม การแก้ไข ฟื้นฟู และการสอดส่อง ดูแลเมื่อได้รับการปล่อยตัวสู่สังคม 2) เพื่อให้เกิดมิติใหม่แห่งองค์ความรู้และข้อเสนอแนะที่จำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนากฎหมาย ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง และลดข้อจำกัดจากเงื่อนไขทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 3) เพื่อผลักดันให้มีการเพิ่มบทบาทของกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ต่องานด้านการสืบสวน สอบสวนและการพิสูจน์หลักฐาน    เพื่อลดช่องว่างของข้อกฎหมายและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกต่อกระบวนการยุติธรรม 4) เพื่อสร้างนวัตกรรมทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของอาชญากรรมในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งไปที่การแสวงหาหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการสืบสวนสอบสวนและการพิสูจน์หลักฐาน 5. เพื่อสร้างมาตรการสำหรับการกำกับติดตามเด็กและเยาวชนที่ได้รับการปล่อยตัวคืนสู่สังคม เพื่อการป้องปรามไม่ให้เด็กและเยาวชนหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ และ 6) เพื่อสร้างมาตรการสำหรับการผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน   ในการป้องกันเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยกระทำผิดไม่ให้เป็นผู้กระทำผิดรายใหม่



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.เห็นความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก จึงได้สนับสนุนให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจดำเนินการแผนงานวิจัยที่สำคัญเพื่อรองรับยุค 4.0 โดยเน้นให้หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมต้องมีการปฏิรูปและพัฒนาวิทยาการด้านการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดการบูรณาการ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของการป้องกัน การปราบปราม การแก้ไขฟื้นฟู และการสอดส่องดูแลเมื่อได้รับการปล่อยตัวคืนสู่สังคม เพราะการอำนวยความยุติธรรมที่สมบูรณ์แบบนั้น จะต้องอาศัยทั้งหลักความยุติธรรมทางกฎหมาย หลักความยุติธรรมทางสังคม และนวัตกรรมด้านการสืบสวนสอบสวนที่ล้ำสมัยควบคู่กันไป โดยเฉพาะการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างมาตรการสำหรับการผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ในการป้องกันเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยกระทำผิดไม่ให้เป็นผู้กระทำผิดรายใหม่ต่อไป

ด้าน ศ. พล ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ผู้บริหารจัดการโครงการ กล่าวว่า นวัตกรรมจากการวิจัยเพื่อการอำนวยความยุติธรรมแบบล้ำสมัยที่นักวิจัยจาก 15 โครงการ ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ใน 3 ด้าน คือ
1) นวัตกรรมทางกฎหมาย มี 6 โครงการ ที่เกี่ยวกับการลดข้อจำกัดและความยุ่งยากของข้อกฎหมายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ได้มีการรวบรวมและสกัดองค์ความรู้จัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในกระบวนการสอบสวนของสหวิชาชีพ และการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อส่งเสริมทั้งความยุติธรรมทางกฎหมายและความยุติธรรมทางสังคมควบคู่กัน โดยค้นพบนวัตกรรมเด่นในการแก้ไขปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเร่งด่วน ในเรื่องที่ทำการสอบสวนปากคำผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน ที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
2) นวัตกรรมทางนิติวิทยาศาสตร์ มี 4 โครงการ ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์กัญชาและสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ในเส้นผม พัฒนากระบวนการจัดการและวิเคราะห์วัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ให้สามารถอธิบายเหตุการณ์แทนการสอบสวนกับเด็กและเยาวชน และเสนอรูปแบบพิมพ์เขียวห้องสอบสวนคดีเด็กและเยาวชนที่สามารถใช้เป็นต้นแบบให้แก่สถานีตำรวจทั่วประเทศ พบนวัตกรรมที่โดดเด่นในเรื่องการพัฒนาระบบป้องกันการเสพติดซ้ำของเด็กและเยาวชน โดยการตรวจสารเสพติดในเส้นผม ซึ่งปัจจุบันจะตรวจจากปัสสาวะ
3) นวัตกรรมด้านฐานข้อมูล มี 5 โครงการ ได้จัดทำเป็นแผนที่จุดเสี่ยงในการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนสำหรับการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่และการหลีกเลี่ยงอันตรายของประชาชนชนทั่วไป การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมและการพยากรณ์แนวโน้มของการกระทำผิด รวมถึงการพัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอาชีพเพื่อส่งเสริมกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมและลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเยาวชนโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อการป้องกันการกระทำผิดและการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับสังคมในยุคดิจิทัล ซึ่งค้นพบนวัตกรรม Program Application ที่สามารถประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชน ที่คาดว่าจะมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำ ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ผลจากการวิจัยในครั้งนี้ ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศไทย โดยองค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนได้เพื่อรองรับผลกระทบต่อความท้าทายประเทศไทย 4.0 ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านนวัตกรรมทางกฎหมาย เกิดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเสริมพลังเชิงบวกด้านความมั่นคงทางสังคมและลดความขัดแย้ง ด้านนวัตกรรมทางนิติวิทยาศาสตร์ ได้กระบวนการสอบสวนคดีเด็กและเยาวชน มีรูปแบบและมาตรฐาน ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม และเกิดกระบวนการจัดการและวิเคราะห์ วัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ สามารถอธิบายเหตุการณ์ เพื่อลดการตอกย้ำซ้ำเติม และด้านนวัตกรรมด้านฐานข้อมูล มีการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่และการหลีกเลี่ยงอันตรายของประชาชนชนทั่วไป ในพื้นที่จุดเสี่ยง พร้อมทั้งมีการวิเคราะห์แนวโน้มการกระทำความผิด และเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำผ่านโปรแกรมประยุกต์ที่ทันสมัย



ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่:https://www.facebook.com/pg/nrctofficial/photos/?tab=album&album_id=2626865317439024&__tn__=-UC-R


Print
Tags: