วช.และคณะนักวิจัยไทยเข้าร่วมประชุมในหัวข้อที่เป็นประเด็นท้าทายใน S&T ระหว่าง STS forum 2023
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า คณะนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากวช. ในการเข้าร่วมงาน STS forum 2023 พร้อมด้วยทีมงานของ วช. ได้เข้าร่วมกิจกรรมในSessionต่างๆในระหว่างการประชุม STS forum 2023 (Science and Technology in Society forum) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ ICC Kyoto เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะนักวิจัยและทีมงานของวช. ซึ่งการประชุมในแต่ะ Session มีการกำหนดหัวข้อในประเด็นสำคัญ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วย
-หัวข้อ Action for Net-Zero Emission - เน้นการหารือว่าด้วยเรื่องของการเข้าสู่สังคมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยมีหลากหลายหัวข้อหารือ เช่น เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเป็นสังคม Decarbonization ได้แก่ Renewable energy, Non-fossil fuel, Hydrogen energy, synthetic fuel, negative emission technology เป็นต้น ว่าควรเน้นให้ความสำคัญต่อจากนี้ไป นอกจากนี้ในส่วนของนโยบาย ก็ได้หารือกันและสรุปว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เช่น ภาครัฐ เอกชนตั้งแต่รายเล็ก ถึงรายใหญ่ หน่วยงานให้ทุน เพื่อที่จะสร้างเป็น Roadmap หรือนโยบายที่มองได้ทั้งระดับระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นโดย NEDO ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ที่ถือเป็นพลังงานทดแทนที่มีคุณค่ามากในอนาคตมานำเสนอในส่วนของจัดตั้งศูนย์วิจัยที่ฟุกุชิมะ และศูนย์วิจัยการนำคาร์บอนมารีไซเคิลที่ฮิโรชิมา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจต่อผู้เข้าฟังเป็นอย่างยิ่ง เข้าร่วมประชุมโดย รศ.ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
-หัวข้อ Adaptation to Climate Change -เน้นถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และการเผชิญกับภาวะระดับโลก ในปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งการปรับตัวต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของ (UN 2030 Agenda) โดยที่ประชุมมุ่งเน้นการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ที่สำคัญคือ การถ่ายทอดไปสู่ชุมชนระดับท้องถิ่นให้มีความตระหนักถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งการให้อำนาจกับชุมชนให้มีบทบาทสำคัญ เข้าร่วมประชุมโดย น.ส. กันต์ฤทัย รอดอิ้ว นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ วช.
-หัวข้อ Agriculture, Food and Water Security -กล่าวถึง การเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในทวีปต่างๆ เช่น เอเชีย แอฟริกา และยุโรป และมีการระดมสมองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเด็นการจัดทำฐานข้อมูลชุดดิน เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพและการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพน้ำ ฟู๊ดส์เวส ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการยอมรับของเกษตรกร ซึ่งเป็นโอกาสที่นักวิจัยไทยสามารถนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้มาพัฒนาโจทย์วิจัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าร่วมประชุมโดย รศ.ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-หัวข้อ AI for Health - ปัญหาหรือข้อจำกัดของการนำ AI in Health ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากคำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทั้งในระดับส่วนงานย่อยจนถึงระดับนานาชาติ โดยปัญหาหลัก เช่น 1) Trust in data ในเรื่องคุณภาพของข้อมูลที่นำมาใช้ในการ train อัลกอรึธึมของ AI และข้อมูลเหล่านั้นนำมาประยุกต์ใช้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบัน ส่วนมากมาจากเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดข้อมูลจากกลุ่ม minority 2) Data sharing vs privacy and security ของข้อมูล โดยบริษัทขนาดใหญ่มีงบประมาณที่จะสามารถลงทุน resources เพื่อปกป้องข้อมูลได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ในฝั่ง academic และภาคปฏิบัติเช่น โรงพยาบาล ภาครัฐ/internationalหรือ collaboration จะมีส่วนช่วยหรือมีมาตรการในประเด็นนี้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงความท้าทายของการใช้ AI in Health ในอนาคต เช่น บทบาทของมนุษย์หลังยุคของ AI ในทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนแพทย์จะต้องมีการปรับการเรียนการสอนอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยหรือแม้กระทั่ง "ทดแทน" การทำงานบางอย่างของบุคลกรทางการแพทย์ แล้วบุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นเหลืออยู่แค่ไหน
เข้าร่วมประชุมโดย ดร. ณัฐชิต ลิมป์จรรยาวงศ์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
-หัวข้อ Revolutionary Materials and Devices - ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในระดับ Nanoscale และ Macroscale สำหรับการประยุกต์ใช้ในงานหลาย ๆ ด้าน เช่น semiconductor, sensors, actuators, MEMS, automobile, climate change and sustainability, และ quantum technology เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาวัสดุสำหรับอนาคตจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการ Recycle รวมถึงการเข้าใจธรรมชาติ เพื่อพัฒนา Bio-inspired materials และเปลี่ยนจาก Static materials ไปสู่ Dynamic materials รวมถึงการประยุกต์ใช้ AI ในการคำนวณคุณสมบัติของวัสดุ และการใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการป้อนข้อมูล AI โดยการพัฒนาเหล่านี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันและการบูรณาการข้ามสาขา เข้าร่วมประชุมโดย ดร. กัตติกา กะอาจ จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
-หัวข้อ Science and Technology as a Driver for Development - การหาและวิเคราะห์ คำจำกัดความที่เหมาะสมของคำว่า “การพัฒนา” โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มนุษยชาติกำลังมองหาจริงๆในปี 2023 นอกจากนี้เรายังได้อภิปรายอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีกระจายเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับนักวิจัยและนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ นอกจากนี้ แนวคิดเรื่อง "Open Science" ได้รับการแนะนำเพื่อช่วยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนาด้วย เข้าร่วมประชุมโดย ดร. อดิศักดิ์ สีเสน่ห์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-หัว้อ Fostering New Generations of Scientists with Inclusion and Diversity - มีการแลกเปลี่ยนความเห็นแบบอิสระ เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจาก international migration การศึกษาข้ามศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ความเท่าเทียมกันทางเพศของผู้หญิง ความหลายหลายของผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาโครงการ ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องมีการวางโครงสร้างที่เฉพาะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตนเอง นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายในประเด็น Social Economic Transition ไปสู่แผนปฏิบัติ การสนับสนุนผู้หญิงในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักคณิตศาสตร์ การสร้างเครือข่ายนานาชาติและการสนับสนุนทักษะที่เหมาะสมแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ เข้าร่วมประชุมโดย น.ส. ขวัญศิริ วันวิเวก ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ วช.
-หัวข้อ Trust of Information in Digital Age - การใช้ AI กับประชาชน โดยเห็นควรว่าการใช้ AI ต้องคำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดยควรใช้ในแบบที่ยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นควรปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ และไม่ควรใช้ AI เพื่อแก้ไขหรือแปลงข้อมูลอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การแปลงภาพใบหน้าในรูปภาพหรือวิดีโอเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลอนาจาร นอกจากนี้เยาวชนควรได้รับการเตือนเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงของการใช้ AI ในสังคม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในความสามารถและข้อจำกัดของเทคโนโลยี เข้าร่วมประชุมโดย ดร. ฐิตาภรณ์ กนกรัตน จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในประเด็นจากการประชุมในแต่ละหัวข้อ จะได้ใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงการออกแบบทิศทางงานวิจัย เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยของไทย ได้มีการเตรียมการทำงานเพื่อสะท้อนเป้าหมายและผลการดำเนินงานในอนาคต ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานที่เป็นทิศทางที่นานาชาติได้ให้ความสำคัญต่อไป