วช.โชว์พลัง การใช้ ววน.เพื่อการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs

  • 10 August 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 394
วช.โชว์พลัง การใช้ ววน.เพื่อการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 หรือ Thailand research Expo 2023 ภายใต้แนวคิด ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน เพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ
เป็นอีกหนึ่งเวทีเสวนาที่ตอบโจทย์สูงสุดที่ทำให้มองเห็นฉากทัศน์ชัดเจนของภาพรวมงานวิจัยเกิดขึ้นจาก เวทีเสวนา เรื่อง การใช้ประโยชน์ ววน.เพื่อการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมถ์ ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ร่วมอภิปราย และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นผู้ดำเนินอภิปราย
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ปี 2542 เมื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากการที่ต่างประเทศ
ยอมรับเห็นได้จากนักวิชาการนานาชาติที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้ให้ทัศนะว่า3 ประเทศที่จะขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดีที่สุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีและไทย โดยไทยเกิดจากการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แสดงให้เห็นว่า ต่างประเทศยอมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ในปี 2547 ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซียได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งแนะนำให้ประธาธิบดีปูตินใช้พื้นที่ที่รัสเซียมีอยู่อย่างกว้างขวางทำการปลูกข้าวสาลีเพื่อเลี้ยงพลเมืองแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ หลังจากทำตามที่พระองค์ทรงแนะนำ ทำให้ทุกวันนี้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับต้นๆของโลก และตัวประธานาธิบดีปูตินก็มีความรักและเทิดทูนในองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรเป็นอย่างมาก และล่าสุดการประชุมเอเปคเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่ประชุมยอมรับทั้งเศรษฐกิจ BCG และเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งขณะนี้ สปป.ลาว กัมพูชาและบรูไนได้นำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แล้ว
สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดไว้ใน13 หมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ระบุชัดเจนว่า เราจะใช้ ววน. ในการขับเคลื่อนบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสภาพัฒน์ฯครั้งหน้า ตนจะได้เน้นย้ำในการที่จะนำเรื่องของ ววน.เพื่อการพัฒนาบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจมาใช้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม แค่เพียงลองวิจัยว่าคนหนึ่งคนกินในปริมาณเท่าใดจะทำให้สามารถจัดอาหารให้พอกินโดยไม่มีของเหลือ เพราะปีหนึ่งเรามีของเหลือจากอาหารถึง 134 ล้านตัน มั่นใจว่าการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจะขับเคลื่อนประเทศได้
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่า วว กล่าวว่า วว.เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่รับนโยบายจากกระทรวง อว. ในการขับเคลื่อน BCGให้เกิดความยั่งยืน เพราะBCG เป็นตัวตอบโจทย์ในการนำทรัพยากรมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดของเสีย ตอบสนองเทรนด์โลกที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่มีการรวมกระทรวงเป็น อว .ทำให้มีพันธมิตรในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานเพราะต้องมีคนอยู่ในพื้นที่ดูแล เป็นผู้เข้าใจปัญหาและทำให้งานต่อเนื่อง ในส่วนของ วว .ได้ใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ลงไปทำBCG เพื่อสร้างมูลค่าจากผลผลิตที่เหลือทิ้ง อาทิการนำน่ำนึ่งปลาที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมปลากระป๋องมาผลิตเป็นโอเมก้่า การสร้างมูลค่ากองขยะโดยนำขยะพลาสติกมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ในโครงการตาลเดี่ยวโมเดล การส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์และจุลินทรีย์ทำให้พืชเจริญเติบโตดีขึ้น ช่วยลดการใช้สารเคมี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสามารถเข้าไปติดตามได้ที่แพลตฟอร์ม วว jump
รศ.ดร. สุดเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บุคลากรเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ประเทศเข้มแข็ง จึงต้องมีการปูพื้นฐานทางการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง รวมถึงการศึกษานอกหลักสูตรที่ได้ประกาศนียบัตร ดังนั้นมหาลัยจะต้องมีการปรับตัว โดยจะต้องเป็นผู้ชี้นำทางความคิด รองรับการเปลี่ยนแปลง สร้างต้นแบบงานวิจัย และรองรับได้รวดเร็ว
“การรวมตัวของ RUN คือกลุ่มของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มาทำงานร่วมกันโดยมุ่งเป้าสู่ความเป็นเลิศ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิจัยโดยการประสานร่วมกัน ผลงานที่ทำตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา เช่น ประเทศไทยไร้หมอกควัน โลจิสติกส์ เมืองอัจฉริยะ
ผลงานล่าสุดที่ประสบความสำเร็จคือการนำดอกดาวเรืองที่เหลือมาดักจับคาร์บอนไดอ๊อกไซด์
นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิถือกำเนิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มุ่งหวังให้ดูแลงานด้านทันตกรรม แต่มีอีกส่วนคืองานด้านวิจัยผ่านผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ทำให้มีนักวิจัยกลับมาทำงาน ทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ 300 ล้านบาทเพื่อการผลิตนวัตกรรม จนถึงปัจจุบันสามารถผลิตนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์อย่างเห็นผล ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ รากฟันเทียมพระรามเก้าในราคาเพียง3,000 บาทโดยเข้าสู่ระบบสปสช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้สูงอายุได้ใช้ฟรี โบนส์ฟิลเลอรฝังในร่างกาย อาหารสำหรับผู้ป่วยช่องปาก นำ้ลายเทียมหรือวุ้นชุ่มปาก ช่วยผู้สูงวัยที่มีน้ำลายน้อย ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมมหาราชบพิตรที่รับสั่งไว้ก่อนเสด็จสวรรคตว่า คนแก่อย่างเรามีเยอะต้องช่วยกันดูแล นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านอาหารสำหรับผู้สูงอายั อาหารเพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาหารผู้ป่วยโรคลมชัก
“งานชิ้นโบแดงที่มูลนิธิกำลังทำคือการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้อนุรักษ์ดินและนำ้ แต่ทันตแพทย์ใช้เวลา7ปีค้นพบว่าสารสกััดในหญ้าแฝกนำมาฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบของเหงือกได้จึงผลิตเป็นน้ำยาบ้วนปากจากหญ้าแฝก และซาอุดิอารเบียสั่งซื้อ 100 ล้านขวด ขวดละ 100 บาท ภายใน5ปี จะมีเงินเข้ามูลนิธิถึง 10,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อลงนามสัญญากับทางซาอุดิอารเบียต่อไป “
ศ.ดร. อภิชัย พันธเสน จากสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม กล่าวปิดท้ายว่า ในฐานะที่ทำงานเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นเวลา 24 ปี ทำให้เห็นว่าแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จมากเท่าที่ควร จากปัจจัย คือ คนไทยไม่เข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้งเข้าใจเพียงผิวเผิน คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเกษตรเท่านั้นไม่เห็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ด้านอื่น ทุนทางธุรกิจเข้าครอบงำมาตั้งแต่ปี 2544 ทำให้มีแนวคิดแตกต่างจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ข้าราชการระดับสูงและนักวิชาการที่สำเร็จจากต่างประเทศสร้างวาทกรรมผิดๆเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมใน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่สร้างไทยยั่งยืน
Print
Tags: