วันที่ 1 – 3 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม “การอบรมการยกระดับคุณภาพข้อเสนอทุน KM” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรการวิจัย โดยจัดกิจกรรม “การอบรมการยกระดับคุณภาพข้อเสนอทุน KM” อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นทิศทางการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่ วช. มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยบุคลากรการวิจัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเป็นกลไกให้งานวิจัยและนวัตกรรมได้เข้าถึงผู้รับประโยชน์ในระดับต่าง ๆ ได้ในวงกว้าง และเกิดการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม มาเข้ากระบวนการจัดการความรู้ให้เป็นระบบ และสรุปเป็นองค์ความรู้ ที่มีความพร้อมในการใช้ประโยชน์ก่อนการนำไปถ่ายทอดขยายผลเพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ภายในงาน มีการบรรยายเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพข้อเสนอทุน KM ได้แก่ การชี้แนะเทคนิคพิชิตทุน KM : การเขียนข้อเสนอ การนำเสนอโครงการ KM อย่างไรให้ได้รับทุน โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี และ นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. การบรรยายเรื่อง “แก่นการเขียนโครงการ วัตถุประสงค์ ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย การบรรยาย เรื่อง “การเขียนข้อเสนอ KM ให้เชื่อมโยงประเด็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” โดย ดร.มารยาท สมุทรสาคร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับคุณภาพข้อเสนอทุน KM ในกรอบมิติต่าง ๆ ได้แก่ กรอบมิติการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม มิติการใช้ประโยชน์เชิงความมั่นคง มิติการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะ และมิติการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามแนวพระราชดำริ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ร่วมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ ดร.สุพจน์ อาวาส นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พลเอก วินัฐ อินทรสุวรรณ นายธานินทร์ ผะเอม พลเอก กนก ภู่ม่วง และนายสมบูรณ์ วงค์กาด
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งกลไกที่เสริมสร้างศักยภาพของนักวิจัย นักวิชาการ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ ในการเชื่อมโยงบูรณาการให้องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปใช้ประโยชน์ ผ่านกระบวนการจัดการความรู้และปฏิบัติ ได้จริงในการพัฒนาประเทศต่อไป