วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์กลางการเรียนรู้การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำโขง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยาย เรื่อง “การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำโขง” โดย ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม MR 204 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
ศ. ดร.สมศักดิ์ กล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่มีความแตกต่างกัน และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของคนในพื้น ร่วมไปถึงการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรที่มีค่า
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง “ลุ่มน้ำสงคราม ถิ่นกำเนิดของรวงผึ้งต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10”โดย ดร.พงษ์ศักดิ์ พลเสนา จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันต้นรวงผึ้งมีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นพรรณไม้ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
หลังจากนั้น ยังมีการบรรยายเรื่อง “ความสำคัญของงานอนุกรมวิธาน กับผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก” โดย รศ. ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าถึง การศึกษาอนุกรมวิธานผีเสื้อกลางคืนเพื่อให้ทราบชนิด พืชอาหารและเขตการแพร่กระจาย เพื่อข้อมูลพื้นฐานประกอบการวินิจฉัยชนิดแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ และ การบรรยายเรื่อง “ความหลากหลายและการใช้ประโยชน์ของไส้เดือนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำสงคราม” โดย ผศ. ดร.รัตน์มณี ชนะบุญ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวถึง ข้อมูลความหลากหลายของไส้เดือนเป็นอีกหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่จะช่วยบ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแนวทางในการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำโขง และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถเข้าร่วมงาน อว.แฟร์: SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ได้จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์