วช. ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรีและมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจ สมุนไพร ประมง และปศุสัตว์ เพิ่มมูลค่าด้วยวิจัยและนวัตกรรม

  • 17 July 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 350
วช. ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรีและมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจ สมุนไพร ประมง และปศุสัตว์ เพิ่มมูลค่าด้วยวิจัยและนวัตกรรม
วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2566 สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ลงพื้นตรวจเยี่ยมผลสำเร็จจากการดําเนินงานของโครงการเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจังหวัดสุพรรณบุรี” ซึ่งดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี

ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึงทิศทางและเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่และจังหวัด พร้อมด้วย นายปริญญา เขมะชิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์จังหวัดและการสนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยมาพัฒนาในกลไกงานด้านต่างๆของจังหวัดสุพรรณบุรี และ ดร.วรานี เวสสุนทรเทพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสุพรรณบุรี ได้ชี้ให้เห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรีในการพัฒนาพื้นที่และให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมพวงเงิน อาคารจันทร์เจริญ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้เห็นความสําคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศบนพื้นฐาน การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประชาชนในประเทศมีคุณภาพชีวิต มีอาชีพและมีรายได้ที่สูงขึ้น โดยการขับเคลื่อน การดําเนินงานในประเด็นความต้องการตามนโยบายการพัฒนาจังหวัดและระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการขยายผลการนําความรู้งานวิจัย ไปสู่การใช้ประโยชน์ อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจของชุมชนที่เป็นรูปธรรม โดยวช.ได้สนับสนุนให้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดําเนินการเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิง อัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจังหวัดสุพรรณบุรี” ซึ่งกลไกของโครงการเป็นความร่วมมือร่วมระหว่างภาคจังหวัด สุพรรณบุรี และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการส่งเสริมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การสร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วม ในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ซึ่งส่งผลสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ และการสร้างกลไกทางการตลาดให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

นายปริญญา เขมะชิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตร ด้านการประมง ด้านการพาณิชย์ และความร่วมมือจากผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจ ในการดำเนินงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงอัตลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีมาตรฐาน มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

พร้อมกันนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ประกอบด้วย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์, ศ.ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร ดร.มารยาท สมุทรสาคร และ ดร.สุพจน์ อาวาส ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคณะผู้วิจัย และผู้แทนภาคจังหวัด ผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจในการดำเนินการโครงการ

โครงการวิจัยและขยายผลเรื่อง”การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เชิงอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าในการแข่งขันอย่างยั่งยืนจังหวัดสุพรรณบุรี” มี รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นหัวหน้าโครงการ โดยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มากถึง 23 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่

-ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรจากพืชเศรษฐกิจ จํานวน 5 ผลงาน
-ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเครื่องสําอางสมุนไพร จำนวน 6 ผลงาน
-ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรการประมง จำนวน 6 ผลงาน และ
-ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรการปศุสัตว์ จำนวน 6 ผลงาน

นอกจากนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะนักวิจัย พร้อมภาคีเครือข่ายจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เดินทางไปยังพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับฟังการนำเสนอของกลุ่มวิสาหกิจ ในการผลิตสินค้าแปรรูปทางการเกษตรอย่างปลอดภัย รวมทั้งกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรจากพืชเศรษฐกิจสําคัญจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หมี่กรอบซอส มะม่วง ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยมี นายปัญญา ใคร่ครวญ ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน และ ผศ.ดร.มนฤทัย ศรีทองเกิด นักวิจัยในโครงการ ให้การต้อนรับฯ
Print
Tags: