เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (ศปป.1) ขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงานนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย พลโท ดร.เจษฏ์ จันทรสนาม รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. เป็นประธานในพิธีส่งมอบนวัตกรรมโครงการ “การผลิตข้าวฮางงอกด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำหรับพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด” เพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรในการผลิตข้าวและเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยมี นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลไพศาล อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
พลโท ดร.เจษฏ์ จันทรสนาม รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน. โดย ศปป.1 ได้ร่วมมือกับ วช. ในการคัดเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินการในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การพึ่งพาและการจัดการด้วยตนเอง โดยนำนวัตกรรมต่างๆ ของนักวิจัยไทย มาขยายผลทำให้เกิดการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่ ตำบลไพศาล อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ในการขยายผลนวัตกรรมด้านการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าข้าว โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ศปป.1 กอ.รมน. ได้ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆ อย่างดียิ่งใน จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องชาวตำบลไพศาล กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. และ กอ.รมน. มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ในการปฏิบัติและถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และพื้นที่ชุมชนเป้าหมายของ กอ.รมน. ตั้งปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน โดยกิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานร่วมกับ ศปป.1 กอ.รมน. ซึ่งในปี 2567 วช. ได้สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้น โดยกลไกบูรณาการร่วมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนองค์ความรู้ “ชุดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตข้าวฮางงอก” ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งนี้ วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้นนำสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยกลไกบูรณาการร่วมกับพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิสำคัญของประเทศ และทุกๆปี จะมีเทศกาล “วันข้าวหอมมะลิโลก” เพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและต่างพื้นที่ ทั้งนี้บ้านเก่าน้อย แห่งนี้ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ผลิตเกลือสินเธาว์มากว่า 200 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ตามวิธีชุมชนเพียงแห่งเดียวของอำเภอธวัชบุรี นอกจากนี้พื้นที่ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวที่มีคุณภาพโดดเด่นในเรื่องความหอมนุ่ม ความเรียวของเมล็ด เนื่องจากข้อดีของการปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็ม ที่ผ่านมาเกษตรกรรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวได้มีการแปรรูปเป็นข้าวกล้องเพียงอย่างเดียว ทางกลุ่มมีความต้องการในการเพิ่มมูลค่าของข้าวให้ได้มากกว่าเดิมด้วยการแปรรูปเป็นข้าวฮางงอกที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทางจังหวัดมีความมั่นใจว่าพื้นที่นี้จะใช้ “ชุดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตข้าวฮางงอก” ได้อย่างคุ้มค่า ดังสโลแกน “ตำนาน 200 ปี ฮางต้มเกลือท้องถิ่นธรรม สู่ ข้าวฮางงอกด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
กิจกรรมการส่งมอบนวัตกรรมในโครงการ “การผลิตข้าวฮางงอกด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำหรับพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด” ให้กับเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ตำบลไพศาล อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการยกระดับกระบวนการผลิตข้าวฮางงอก ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) ช่วยลดเวลาแรงงาน และ ต้นทุนการผลิตสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวฮางงอก สู่การยกระดับการผลิตจากวิธีการเดิมตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีคุณภาพมาตรฐานและใช้ระเวลาผลิตที่สั้นลง จากเดิม 7 วัน เหลือเพียง 2 วัน โดยผ่านชุดอุปกรณ์ล้างข้าวเปลือก ชุดอุปกรณ์เร่งการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือก ชุดอุปกรณ์นึ่งข้าวเปลือก โดยเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการันตีจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติหลายรางวัล ที่สำคัญ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มส่วนกำไรได้ถึง 17.6 เท่า หากเทียบกับการจำหน่ายเป็นข้าวสารขาวทั่วไป