วช. ร่วมกับ ม.กรุงเทพ ผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

  • 6 December 2017
  • Author: admin2
  • Number of views: 2398

วช. ร่วมกับ ม.กรุงเทพ ผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดการสัมมนาเผยแพร่ผลงานโครงการวิจัยครัวไทยสู่ตลาดโลก เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยพร้อมผลักดันขยายผลงานวิจัยไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางนิตยา พุทธโกษา ผู้อำนวยการกองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย วช. เป็นประธานเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนบริหารจัดการโครงการวิจัยครัวไทยสู่ตลาดโลก กล่าวรายงาน เวลา 15.30 น. 
นางนิตยา พุทธโกษา ผู้อำนวยการกองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย วช. กล่าวว่า 
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการส่งออกอาหารไทย โดยได้กำหนดให้มีนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง 
โดยคาดหมายประมาณการมูลค่าการส่งออกในสิ้นปี ๒๕๖๐ อยู่ที่ ๒ ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามการจะก้าวสู่การเป็นครัวของโลกได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้านอาหาร และการแก้ปัญหาเรื่องรสชาติที่ผิดเพี้ยนของอาหารไทยในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้การรับรู้รสชาติของอาหารไทยแท้ดั้งเดิม ผิดเพี้ยนไป ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดของวัตถุดิบที่เป็นพืชและสมุนไพรไทยไม่สามารถส่งออกอันเนื่องมาจากปัญหาสารตกค้าง ราคาสูง ไม่สามารถหาซื้อได้อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยจำเป็นต้องประยุกต์ใช้วัตถุดิบทดแทนจากแหล่งอื่นที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งให้รสชาติ กลิ่น และสีแตกต่างออกไป อีกทั้งการจ้างพ่อครัวหรือแม่ครัวที่เป็นคนต่างชาติที่ขาดทักษะในการประกอบอาหารไทยและไม่เคยลิ้มรสชาติแท้ของอาหารไทย 
ย่อมส่งผลต่อ ความอร่อย และความกลมกล่อม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย การจะผลักดันส่งเสริมให้อาหารไทยได้รับการกล่าวขานในเรื่องความอร่อย รสชาติกลมกล่อม มีคุณค่าทางโภชนาการ และสุขภาพ 
จากการใช้วัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบหลักของพืชผักสมุนไพร ประกอบกับภูมิปัญญาดั้งเดิมซึ่งมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ตั้งแต่ส่วนประกอบของตำรับที่ถูกต้อง เทคนิคการปรุง รวมถึงการรับประทาน ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดใว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้นำมาปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ควรจะได้มีการหาวิธีการเพื่อสร้างมาตรฐานด้านรสชาติแท้ดั้งเดิม พร้อมถ่ายทอดคุณค่าเชิงสุขภาพของอาหารไทยและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากสำหรับทุกคนและทุกชาติ  ภายใต้แนวคิดปรุงที่ไหนต้องมีรสชาติเดียวกันพร้อมข้อมูลคุณค่าเชิงสุขภาพ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่อาหารไทยตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของไทย และการบริการในภัตตาคารร้านอาหารไทย จะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายความเป็นครัวของโลกได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ วช. ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยครัวไทยสู่ตลาดโลกแก่ ม.กรุงเทพ 
โดยคาดหวังว่าปัญหาดังที่กล่าวมาจะได้รับการแก้ไขด้วยการวิจัย
นอกจากนี้ ภายในงานมีพิธีลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระว่าง วช. กับ บริษัท แม่ศรีและบริษัท รสนาง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยโครงการอาหารไทย ฮาลาล ที่เป็นสูตรผลิตภัณฑ์แป้งขนมกล้วย และการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง วช. กับ โรงเรียนระดับประถมศึกษาจังหวัดนครนายก จำนวน 7 โรงเรียน 
เพื่อขยายผลโครงการอาหารกลางวันนักเรียนประถม หลังจากพิธีลงนามความร่วมมือแล้ว ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “อาหารไทย : เพิ่มมูลค่าอย่างไรให้ก้าวไกลไปทั่วโลก” โดย คุณนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ประธานกรรมการบริษัท บลู เอเลเฟ่นท์ จำกัด (มหาชน)

 

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/pg/nrctofficial/photos/?tab=album&album_id=1391595720965996

Print
Tags: