วช. ร่วมกับ มช. จัดงานแสดงความสำเร็จการพัฒนาทักษะ Soft Skills สำหรับบุคลากร ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 ตำบลต้นแบบ พัฒนางานสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากผู้สูงวัย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย ร่วมงานแสดงความสำเร็จการพัฒนาทักษะ Soft Skills สำหรับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 ตำบลต้นแบบ ที่พัฒนางานสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน จาก
ผู้สูงวัย ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติ จากผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์
ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต เป็นผู้กล่าวรายงาน และนางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย ร่วมกล่าวแสดงความยินดี ต่อผลสำเร็จการดำเนินงาน
นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมในระดับ ฐานราก โดยมีบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนและบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและจากผลสำเร็จของความร่วมมือ
ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ADVOCATE นี้ จะนําไปสู่การขับเคลื่อนท้องถิ่นของไทยอย่างเข้มแข็ง ด้วยบุคลากรของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพพร้อม ทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุและประชาชนทุกช่วงวัย เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนำไปสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ให้สามารถต่อสู้กับความ
ยากจนพร้อมเป็นกําลังขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป
นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก ด้วยเป้าประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยโครงการ “ADVOCATE” เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่มีผลการดำเนินงานและเกิดผลกระทบสูงต่อการพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีศักยภาพพร้อมในการพัฒนาผู้สูงวัยและคนในชุมชนอย่างเข้มแข็ง ด้วยระบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การทำงานและการพัฒนาท้องถิ่นของไทย รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยและสร้างรายได้ มุ่งสู่การเป็นชุมชนพึ่งตนเอง ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยและคนในชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการดูแล ผู้สูงอายุ และด้วยวิสัยทัศน์รวมทั้งพันธกิจของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนในสังคม ยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จึงจัดทำโครงการการศึกษาแนวทางพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะการบริหารจัดการสำหรับบุคลากรของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยมีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรและผู้นำชุมชนของ อปท. จำนวน 80 คน ใน 8 พื้นที่นำร่อง จาก 4 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดน่าน ด้วยกระบวนการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะการ ทำงาน พร้อมแนะนำแนวทางต่อยอดการส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้สูงวัยในชุมชน มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ผ่านโครงการนำร่อง 8 พื้นที่ เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและนวัตกรรมการเรียนรู้จากหน่วยงานเครือข่ายของ โครงการ มากกว่า 10 หน่วยงาน จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อาทิ ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
ปัจจุบัน “ADVOCATE” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรเพื่อการพัฒนากิจกรรมพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างรายได้หรือเกิดการสนับสนุนรายได้ให้กับกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (Pre-Aging) และผู้สูงอายุ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนอย่างยั่งยืน