วช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนานโยบายการจ้างงาน และคุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อขยายโอกาสการทำงานหลังเกษียณอายุอาจารย์อาวุโสในสถาบันอุดมศึกษาไทย

  • 17 December 2019
  • Author: Admin4
  • Number of views: 1619

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล และพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.วิริยะ ศิริชานนท์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัย ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย และคณะผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมผู้บริหารสถาบันการศึกษา เพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาแนวนโยบายการจ้างงาน การเสริมสร้างความสามารถในการทำงานและคุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อประสิทธิภาพการทำงานและการขยายโอกาสการทำงานภายหลังเกษียณอายุแก่อาจารย์อาวุโส ในสถาบันอุดมศึกษาไทย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ณ ห้องโคลีเซียม ชั้น 6 โรงแรมแบงค็อก มิดทาวน์ กรุงเทพมหานคร


สำหรับการประชุมดังกล่าวนี้ เป็นดำเนินการภายใต้โครงการ เรื่อง “การพัฒนาแนวนโยบายในการถ่ายทอดความสามารถในการทำงาน และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานเพื่อประสิทธิภาพการทำงาน และการจ้างงานภายหลังเกษียณอายุแก่อาจารย์อาวุโส ในสถาบันอุดมศึกษาไทย” ซึ่ง วช. ได้ส่งเสริมแผนงานในประเด็นการพัฒนาสังคมสูงวัย ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ สำหรับการพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและทางการศึกษา บนพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดย วช. สนับสนุนให้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.วันเพ็ญ แก้วปาน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะ ดำเนินการภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ เชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานโยบายส่งเสริมการถ่ายทอดแนวปฏิบัติการทำงานที่ดีของอาจารย์ที่เกษียณอายุ และเตรียมความพร้อมสำหรับอาจารย์ที่ยังคงปฏิบัติงานให้สามารถวางแผนก่อนเกษียณอายุได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายการจ้างงาน และการเสริมสร้างความสามารถในการทำงานและคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีแก่บุคลากรในสถาบันการศึกษา สำหรับข้อคิดเห็นจากการประชุมนี้ จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการส่งเสริมถ่ายทอดแนวปฏิบัติการทำงานที่ดีของอาจารย์ที่เกษียณอายุ และเตรียมความพร้อมสำหรับอาจารย์ที่ยังคงปฏิบัติงานให้สามารถวางแผนชีวิตตนเองก่อนเกษียณอายุ ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานโยบายการจ้างงาน และการเสริมสร้างความสามารถในการทำงานและคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีแก่บุคลากรในสถาบันการศึกษา

Print
Tags: