เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ลงพื้นที่ ณ โรงทอผ้าศรีวิชัยทับเที่ยงและวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการที่ได้รับทุนภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง และ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็นประธานส่งมอบนวัตกรรมในนามผู้ให้ทุนวิจัยร่วมกันในโครงการความร่วมมือเพิ่มมูลค่าสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ (Co-funding)
ในการลงพื้นที่เพื่อส่งมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงการ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคณะกรรมการ นักประดิษฐ์ และผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่เกิดจากผลสำเร็จของโครงการและสามารถส่งมอบให้วิสาหกิจผู้ใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. เครื่องอัดก้อนเชื้อเห็ดแครงและปิดฝาจุกระบบกึ่งอัตโนมัติ โดย นายชยางกูร ไชยวงศ์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
2. เครื่องวัดปริมาณการสูญเสียเลือดจากการผ่าตัด โดย นายสุริยา สามแก้ว วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
3. เครื่องผลิตปุ๋ยเสริมแคลเซียมจากเปลือกหอยรูปแบบ BCG Model โดย นายเจษฎา ดาวเรืองวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
4. เรือไฟฟ้าสำหรับเก็บขยะชายฝั่งทะเลและแนวปะการัง โดย นายณัฏฐเอก ณัฐธยาน์ภัทรกุล วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
5. เครื่องคั่วเมล็ดกาแฟด้วยโอ่งดินโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom) โดย นายเฉลิมศักดิ์ ตันติเจริญวิวัฒน์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
6. ตู้อบและรมควันปลาเม็ง (GI) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ โดย นายเกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
7. ผลิตภัณฑ์ผ้าทอร่วมสมัยลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น “ศรีพุนพิน” โดย นางชนัญญา สุวรรณวงศ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี
สำหรับวิสาหกิจผู้ใช้ประโยชน์ที่ได้รับการส่งมอบนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนคีรีรักษ์เกษตรยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง วิสาหกิจชุมชนบ้านเปลือกหอยแหลมทราย กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านปากกะแดะ วิสาหกิจชุมชนเขาเสียบหมอก วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่สินค้าปลาเม็งสุราษฎร์ธานี
การให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมของ วช. มุ่งหวังให้ผลงานที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นเกิดประโยชน์ทั้งต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในมิติต่างๆ ซึ่งการส่งมอบนวัตกรรมในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการได้ใช้ประโยชน์จริงของภาคสังคม ของวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มประมง จากการประดิษฐ์คิดค้นพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน