สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร. ยุพิน เลิศบุรุษ ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนแผนงานวิจัยตามเป้าหมาย และนางสาวสุกัญญา อามีน ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนนโยบายโดยการวิจัย และ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม วช. รองศาสตราจารย์ ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดกรอบการวิจัยด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านสังคมสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์
วิจัย และ ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นวัตกรรมและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมจาก สกสว. รวมถึงผู้แทนจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) นางวรพิชญา ระเบียบโลก ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิเคราะห์ข้อมูล
โดยในการประชุมดังกล่าวมีนักวิชาการและผู้แทนจากหน่วยงานให้ทุนจากกลุ่มประเทศอาเซียน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและหน่วยงานให้ทุนจากสหราชอาณาจักร จำนวนกว่า 100 คน ระหว่างวันที่ 15 - 16 มกราคม 2568 ณ เมืองเอดินบะระ สหราชอาณาจักร จัดโดยสภาวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งสหราชอาณาจักร (Natural Environment Research Council: NERC)
การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีที่รวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Region) อาทิ หน่วยงานให้ทุนของรัฐบาล นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติในบริบทของประเทศตนและกำหนดลำดับความสำคัญด้านการวิจัยและความสนใจร่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อีกทั้งได้รับฟังการนำเสนอโครงการด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสาธารณภัยในอดีตจากผู้แทนโครงการในสหราชอาณาจักร โดยรองศาสตราจารย์ ดร. สุจริตฯ ได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในคณะนักวิชาการจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในช่วงที่ 1 “มุมมองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – การแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายด้านการวิจัยที่เร่งด่วน/สำคัญสำหรับการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยกล่าวถึงความสำคัญและโอกาสของความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยในประเด็นด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ อีกทั้งได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกด้านปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำของประเทศไทยแก่ผู้เข้าร่วมประชุมในโอกาสดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เสนอยกร่างกรอบการวิจัยด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ
สำหรับกรณีตัวอย่างของประเทศไทย เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย ซึ่งประสบ อันตรายหลากรูปแบบ (multi-hazards) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคกลางที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และอาจรวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยเสนอประเด็นการวิจัยที่สำคัญ 3 ประการ
1) การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Natural-based
Solution)
2) การบริหารจัดการด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติด้วยเทคโนโลยี (DRR management & Technology) และ
3) ธรรมาภิบาลด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ (DRR governance)
ทั้งนี้ผลผลิตที่คาดหวังคือ การผลิตที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ ภาคธุรกิจที่มีธรรมภิบาลและคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และภาคประชาชน สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม
ความคาดหวังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานให้ทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสหราชอาณาจักรและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติแล้ว ยังเป็นเพียงก้าวแรกในการ
กำหนดลำดับความสำคัญของกรอบการวิจัยด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตต่อไป