วช. ร่วมประชุม Funding Agency Presidents’ Meeting (FAPM) ถกประเด็นบทบาทของหน่วยงานให้ทุนในการสนับสนุนการทูตทางวิทยาศาสตร์ ในระหว่างการประชุม STS forum 2024 – The 21st Annual Meeting

วช. ร่วมประชุม Funding Agency Presidents’ Meeting (FAPM) ถกประเด็นบทบาทของหน่วยงานให้ทุนในการสนับสนุนการทูตทางวิทยาศาสตร์ ในระหว่างการประชุม STS forum 2024 – The 21st Annual Meeting
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมการประชุม Funding Agency Presidents’ Meeting (FAPM) ซึ่งเป็นการประชุมวาระพิเศษของผู้บริหารหน่วยงานให้ทุนจากประเทศต่างๆทั่วโลก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ในระหว่างการประชุม STS forum 2024 – The 21st Annual Meeting ณ Kyoto International Conference Center (ICC Kyoto) เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “Promotion of Science Diplomacy” โดยมี Dr. Kazuhito Hashimoto, President of Japan Science and Technology Agency (JST) กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วย Dr. Dave Smith, National Technology Adviser, UK Government และ Prof. Krishnaswamy VijayRaghavan, Former Principal Scientific Adviser of the Government of India ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ (Keynote speech) และ Prof. Hiroshi Komiyama ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม
ภายในงาน ดร.วิภารัตน์ฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานให้ทุนในการสนับสนุนการทูตทางวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่า หน่วยงานให้ทุนมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก การสร้างขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และการสร้าง Soft Power ผ่านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนโครงการวิจัยแบบพหุภาคี โครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัย และการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายของการทูตทางวิทยาศาสตร์ เช่น ความยั่งยืนด้านงบประมาณ ภาวะสมองไหล (Brain drain) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความแตกต่างด้านกฎระเบียบระหว่างประเทศ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมองด้านโอกาสในอนาคต เช่น การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการดำเนินการด้านทูตทางวิทยาศาสตร์ และการขยายความร่วมมือการวิจัยพหุภาคีข้ามภูมิภาค
การประชุม FAPM ริเริ่มโดย Japan Science and Technology Agency (JST) และ German Research Foundation (DFG) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานให้ทุนหลายแห่งทั่วโลกเข้าร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับความสนใจและข้อกังวลในด้านการวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุน และในปีนี้มีผู้บริหารจากหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักในระดับชาติและนานาชาติ จำนวนถึง 51 หน่วยงานจาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารหน่วยงานให้ทุนวิจัยจากนานาประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการทูตทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
Print