วันที่ 27 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ ผ่านการวิจัยแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเสนอแนวทางการจัดการหลังการใช้งาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงพลวัตรของสภาพแวดล้อมในประเทศและบริบทของโลก โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายทัพพ์เทพ จีระอดิวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)“ ครั้งที่ 19 ณ เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ว่า วช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผลักดันโครงการวิจัยผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ข้าวโพดและอ้อย เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ หลอดพลาสติกชีวภาพชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ความร่วมมือครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 3,000 ตันต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความสำคัญในกาาร่วมมือว่า หลอดดูดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัตว์น้ำที่กลืนกินเข้าไป กรมควบคุมมลพิษจึงมีแผนลดและเลิกใช้หลอดพลาสติกตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก แม้ว่าจะสามารถลดการใช้หลอดพลาสติกได้ 33% แล้ว แต่ปัญหาเรื่องการรีไซเคิลหลอดพลาสติกยังคงมีอยู่ เนื่องจากต้นทุนสูงและกระบวนการที่ซับซ้อน แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 จึงมุ่งเน้นไปที่การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องกำจัด และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่เหมาะสม ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกตาม Roadmap ที่กำหนดไว้
ดร.ดอกรัก มารอด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้วิจัยหลอดพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายผลิตในระดับอุตสาหกรรม ต้นทุนต่ำ สลายตัวได้ง่าย และมีการจัดการหลังการใช้งานอย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก วช. และร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพให้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยข้อมูลจากการวิจัยจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตสอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย หลอดพลาสติกชีวภาพที่พัฒนาขึ้นไม่เพียงแต่ลดปริมาณขยะและมลพิษเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เป้าหมายต่อไปคือการขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากวัสดุชีวภาพ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับสากล