วันที่ 27 มิถุนายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุม The 8th STS forum ASEAN-JAPAN WORKSHOP: for the next 50 years of ASEAN-JAPAN Science and Technology Cooperation ซึ่งกระทรวง อว. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) STS forum และ The Japan External Trade Organization (JETRO) ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ เลขานุการกรม เข้าร่วมการประชุมและ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม วช. ร่วมอภิปราย และแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Human Resource Development (HRD) on Green Talent for Industry and Research” (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมและการวิจัย) โดยมีผู้บริหารกระทรวง อว. และผู้บริหารจากประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ยินดีต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ STS Forum ASEAN-Japan ครั้งที่ 8 ณ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ โดยมีการหารือใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. กลยุทธ์ AI: ประเทศไทยมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ผ่านคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. โดย เนคเทค และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการอภิปรายมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา AI การเข้าถึงที่เท่าเทียม การเสริมทักษะ และการกำกับดูแลที่เป็นธรรม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้าน Green Talent: การพัฒนาเทคโนโลยี คือเราต้องการคนรุ่นใหม่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Net Zero โดยมีกลยุทธ์ของญี่ปุ่นและอาเซียนที่เน้นความเป็นกลางทางคาร์บอนและความยืดหยุ่นด้านพลังงาน 3. การบ่มเพาะสตาร์ทอัพ: การสร้างเครือข่ายและโอกาสในการลงทุนระหว่างนักลงทุนญี่ปุ่นและสตาร์ทอัพในอาเซียนจะช่วยสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ และพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการขยายธุรกิจข้ามพรมแดน สร้างระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่ขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรมร่วมกัน “ขอให้ทุกฝ่ายใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน” รมว.อว. กล่าว
ในการนี้ นางสาวศิรินทร์พรฯ ได้นำเสนอบทบาทของ วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ที่สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และการสนับสนุน Hub of Talents ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่าง วช. กับหน่วยงานญี่ปุ่น เช่น Japan Society for the Promotion of Science (JSPS), Japan Science and Technology Agency (JST) และ STS forum ในด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยไทยและญี่ปุ่น
STS forum เป็นแพลตฟอร์มการประชุมด้านนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง วช. เป็นสมาชิกจากประเทศไทยเพียงหน่วยงานเดียว โดยจะมีการประชุมใหญ่ประจำปีในเดือนตุลาคมของทุกปี และการประชุมระดับภูมิภาค ได้แก่ ภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และอเมริกา โดยการประชุม 8th STS forum ASEAN-Japan Workshop จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 โดยมีการอภิปรายใน 3 ประเด็นหลัก คือ Strategy on AI Application (ยุทธศาสตร์การประยุกต์ใช้ AI) Human Resource Development (HRD) on Green Talent for Industry and Research (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมและการวิจัย) และ How to Nurture Start-ups (การบ่มเพาะสตาร์ทอัพ)