วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “งานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการรักษาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น และวิศวกรรมทางการแพทย์” ณ ห้องประชุม MR 207 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของศูนย์กลางศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในงานวิศวกรรมทางการแพทย์ ในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
การเสวนาในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเข้าร่วม อาทิ รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น จากมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ รศ.ดร.ธีรพจน์ เวศพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ ผศ.ดร.พรทิพย์ แก่งอินทร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร จากศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอมุมมองและผลการวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างความร้อนทำลายเซลล์มะเร็งโดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยยิ่งขึ้น
การจัดเสวนาในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีศักยภาพที่จะปฏิวัติวงการแพทย์และช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น