วช. เข้าร่วมประชุม Asia-Pacific Regional Global Research Council Meeting 2023 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

  • 23 October 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 361
วช. เข้าร่วมประชุม Asia-Pacific Regional Global Research Council Meeting 2023 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสุกัญญา อามีน ผู้อำนวยการภารกิจขับเคลื่อนนโยบายโดยการวิจัย เข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Regional Global Research Council Meeting 2023 ระหว่างวันที่ 18 - 20 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม Sheraton Manila Hotel สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมี Department of Science and Technology (DOST) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และ Ministry of Business, Innovation an Employment (MBIE) ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

การประชุม Asia-Pacific Regional Global Research Council Meeting 2023 ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก คือ “Sustainable Research” โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Lwah J. Buendia, Undersecretary for Research & Development, Department of Science and Technology (DOST) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ Dr. Prue Williams, General Manager, Future Research System, Ministry of Business, Innovation and Employment (MBIE) ประเทศนิวซีแลนด์ และ Prof. Euclides De Mesquita Neto, GRC Executive Secretary กล่าวเปิดการประชุม จากนั้นเป็นการประชุมใน Session ย่อยต่างๆ โดยมีการนำเสนอจากผู้แทนของหน่วยงานให้ทุน พร้อมด้วยการอภิปรายกลุ่ม และการรายงานผลการอภิปรายของแต่ละกลุ่มต่อที่ประชุม

ในการนี้ นางสาวสุกัญญาฯ ในฐานะผู้แทน วช. ได้ร่วมนำเสนอในที่ประชุมในหัวข้อ “Utilization of Research Knowledge in Sustainable Development Pathways” โดยได้นำเสนอความสำเร็จของ วช. ในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในลักษณะ Demand Driven ที่เน้นการขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพื้นที่ ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วม (Mutual Benefit) ใน 4 มิติ ได้แก่ เชิงเศรษฐกิจ เชิงนโยบาย เชิงวิชาการ และเชิงสังคม (สิ่งแวดล้อม) รวมทั้งกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ในแต่ละมิติ จนเกิดผลลัพธ์และผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางสาวสุกัญญาฯ ยังได้ร่วมนำเสนอในประเด็น “Equality, Diversity, and Inclusion (EDI) Working Group” โดยได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการไม่แบ่งแยกมาใช้ในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของการวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในสังคม โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับ EDI และการมีแนวทางปฏิบัติอันดีในส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิก GRC จะสามารถผลักดันการมีส่วนร่วมในประเด็นด้าน EDI ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าวยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมองของหน่วยงานให้ทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น

- ประเด็นเรื่อง “Research on Sustainability (research for sustainable development)” -
กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนนโยบาย แผนงานที่จะส่งเสริมการพัฒนาความรู้พื้นฐาน และการใช้งานที่หลากหลายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในและระหว่างทุกสาขาวิชา รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนในการนำงานวิจัยไปใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

- ประเด็นเรื่อง “Sustainability of Research (making research more sustainable)” ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการวิจัยที่ยั่งยืนซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างความสมดุลระหว่างการวิจัย เศรษฐกิจ และสังคมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การสร้างระบบนิเวศการวิจัย การสร้างการตระหนักรู้ของนักวิจัย การรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยระหว่างหน่วยงานร่วมทุน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างแนวทางปฏิบัติด้านการวิจัยที่ยั่งยืนมากขึ้น

-ประเด็นเรื่อง “Use of Sustainability of Science in Society (making sure sustainability science matters)”- เน้นย้ำและให้ความสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืน การวิจัยแบบสหวิยาการ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้ง มีความเห็นร่วมกันว่าการสื่อสารความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่สาธารณะ (science communication) เป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรผลักดัน เพื่อสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนและสังคม รวมถึงการสร้างงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคม จะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน

- ประเด็นเรื่อง “Research Ethics and Ethical Considerations in Technology Transfer and Commercialization: Addressing Funding and Collaboration Challenges” จริยธรรมการวิจัยในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ การสนับสนุนและการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ระหว่างสมาชิกหน่วยงานร่วมทุน จึงเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ และนำไปสู่แนวทางปฏิบัติร่วมกันในการสร้างงานวิจัยมีคุณภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยผู้อภิปรายได้ร่วมนำเสนอกรณีตัวอย่าง รวมถึงประเด็นท้าทายในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) และการให้ทุนวิจัยที่ทำในรูปแบบ spin-off เป็นต้น

- ประเด็นเรื่อง “Open Science and Communication” (Climate Change, Health and Food Security)
วิทยาการแบบเปิดเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันที่เน้นความโปร่งใส ความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถและส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย การส่งเสริมวิทยาการแบบเปิดควรควบคู่ไปกับการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ง่าย ตลอดจนการสร้างความไว้วางใจ และการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อให้มีการเข้าถึงและใช้งานได้โดยอิสระ มีความโปร่งใส เพื่อประโยชน์ต่อการวิจัยและสังคมได้อย่างยั่งยืน

อนึ่ง การประชุม Asia-Pacific Regional Global Research Council Meeting 2023 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในครั้งนี้ นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ แนวปฏิบัติ และข้อคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งข้อคิดเห็นเหล่านี้จะถูกรวบรวมเป็นข้อสรุปของภูมิภาคและนำไปเสนอในการประชุมใหญ่ของ Global Research Council (GRC) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2567 ณ สมาพันธรัฐสวิส ต่อไป
Print
Tags: