วช. และ มช. พร้อมด้วยเครือข่ายระบบสุขภาพ ร่วมโชว์ผลงานวิจัย Spearhead ระบบบริการสุขภาพ

  • 26 December 2020
  • Author: PMG
  • Number of views: 1981
วช. และ มช. พร้อมด้วยเครือข่ายระบบสุขภาพ ร่วมโชว์ผลงานวิจัย Spearhead  ระบบบริการสุขภาพ
วช. และ มช. พร้อมด้วยเครือข่ายระบบสุขภาพ ร่วมโชว์ผลงานวิจัย Spearhead ระบบบริการสุขภาพ ในการประชุมวิชาการ เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จากล่างสู่บน ”

วันที่ 23 ธันวาคม 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิค นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ประธานแผนงานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม พร้อมด้วยหน่วยงานบูรณาการด้านสาธารณสุข และคณะนักวิจัย ร่วมการประชุมวิชาการเหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จากล่างสู่บน ” ณ ห้องเชียงใหม่ ชั้น 2 ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่

พร้อมนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปราศัยพิเศษผ่านทางวิดิทัศน์ว่า แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย หรือ Spearhead เป็นการบริหารทุนรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะแผนงาน/โครงการวิจัยและนวัตกรรมที่มีขนาดใหญ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทั้งด้านสังคม ชุมชน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยสามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ หรือเป็นแนวนโยบายการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล และสร้างผลกระทบสูงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งแผนงานระบบบริการสุขภาพ: การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรในปีที่ 1 ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งจากการบาดเจ็บและจากโรคภัยไข้เจ็บ อว. ในฐานะหน่วยงาน ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมพร้อมผลักดันให้ผลวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ของแผนงาน Spearhead ให้เกิดขึ้นได้ในระบบสาธารณสุข และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นงานวิจัยในรูปแบบที่เกิดขึ้นนี้ต่อไปอีกในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยหลักของประเทศ และเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันบนฐานงานวิจัยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งงานวิจัยมีความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติ งานวิจัยที่ดีจะสามารถช่วยให้การพัฒนาบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความรู้ใหม่ และแนวทางใหม่ โดย วช. มีกลไกในการส่งเสริม สนับสนุนทุนวิจัย และนวัตกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมทุกด้าน ทุกสาขาวิชาการ โดยมุ่งเน้นงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจน เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาระดับชาติ อย่างเช่นความสำเร็จของแผนงาน Spearhead ระบบบริการสุขภาพ: การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรในวันนี้มีความครบถ้วนและครบวงจรซึ่งเป็นความท้าทายที่ทำให้เห็นผลงานการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และมีการส่งต่อเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริงต่อสังคม มีภาพแห่งประสิทธิภาพในการวิจัย ที่สามารถทะลุข้อจำกัดทุกอย่างไปสู่กลไกที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนในระยะ 3 ปีนี้ ทำให้เห็นการแก้ปัญหาระดับชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งถือเป็นรูปแบบใหม่ในการวิจัยที่มีการร่วมกำหนดเป้าหมายในการบริหารสุขภาพของคนไทย และที่สำคัญงานวิจัยนี้ยังเอื้อประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยแบบ Block Grant ต่อเนื่อง 3 ปี (ปีงบประมาณ2562-2565) ภายใต้โครงการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม หรือ Spearhead จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัยที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของประเทศ และมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมุ่งเป้าไปที่ “การวิจัยพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร” ทั้งภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันระบบยังมีช่องว่างของตัวระบบบริการสุขภาพที่ต้องการการวิจัยพัฒนาในหลายประเด็น โดยหวังว่าผลของโครงการวิจัยจะเป็นประโยชน์สำคัญในการช่วยลดช่องว่างของระบบบริการที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกระดับ
โดยในงานประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของโครงการ จำนวน 33 โครงการ อาทิ ระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินของผู้ประสบเหตุ การพัฒนาระบบศูนย์สั่งการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลแม่ข่าย อุปกรณ์ติดตามวัดสัญญาณชีพแบบเคลื่อนที่สำหรับรถฉุกเฉิน แอพลิเคชั่นเพื่อคัดกรองและประเมินระดับความรุนแรงของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล หลักสูตรการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) แบบฝังรากลึกในประชาชน แพลตฟอร์มสำหรับนักวิ่งเพื่อการดูแลอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการร่วมงานวิ่ง การพัฒนาแผนที่ระบุพิกัดของเครื่อง AED แบบออนไลน์ 3 ภาษา แบบบันทึกสุขภาพของตนเอง โควิด 19 และแบบคัดกรองตนเอง สำหรับผู้สงสัยโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) (Self-Screening Version 2) แบบออนไลน์ 4 ภาษา เป็นต้น รวมทั้งมีการอภิปรายบนเวทีในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง
Print
Tags: