วช. และ สจล. ร่วมเปิด STUDIO OF ARCHITECTURE AND ENVIRONMENT EatAble Scape โมเดลรองรับความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง ณ สี่แยกราชเทวี หนึ่งในโปรแกรม Bangkok Design Week 2024

  • 29 January 2024
  • Author: PMG
  • Number of views: 130
วช. และ สจล. ร่วมเปิด STUDIO OF ARCHITECTURE AND ENVIRONMENT EatAble Scape โมเดลรองรับความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง ณ สี่แยกราชเทวี หนึ่งในโปรแกรม Bangkok Design Week 2024

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเปิดพื้นที่ EatAble scape พื้นที่สาธารณะพร้อมพืชผักกินได้ ณ สี่แยกราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดย วช.ได้สนับสนุนโครงการวิจัยขยายผลดังกล่าว ให้กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ดำเนินการ โดยเป็นหนึ่งในโครงการใน Bangkok Design Week 2024 ที่ได้ให้ความสำคัญกับความหนาแน่นของเมืองทำให้พื้นที่สาธารณะในเมืองมีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้เกิดแนวคิดในการสอดแทรกพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถติดตั้งได้ง่าย เพิ่มประโยชน์ให้แก่พื้นที่ เป็นแหล่งอาหารจากพืชได้ อีกทั้งยังมีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการปลูกพืชมาใช้ที่จะช่วยในการประหยัดเวลาและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้ได้มากที่สุด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะ คือหนึ่งในปัญหาที่เมืองใหญ่ต่างพยายามหาหนทางแก้ไขกัน ต้องการพื้นที่สาธารณะเป็นแหล่งอาหารสำหรับคนในเมือง ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช. ซึ่งพัฒนาโมเดลโดย สจล. ได้พัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมือง เพื่อเป็นการเตรียมการด้านความมั่นคงทางอาหารของคนในเมือง ได้ร่วมกับหน่วยวิจัยด้านสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมแห่ง คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเสนอแนวคิดการสร้างพื้นที่ที่รวมพื้นที่สาธารณะ และสวนผักของชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน และสวนจะต้องลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ร่วมถึงสามารถส่งเสริมการทำงานให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ได้อีกด้วย
จุดเด่นโครงการ EatAble scape พื้นที่สาธาณะปลูกพืชผักที่กินได้ คือการสร้างพื้นที่สาธารณะระหว่างจุดหมายปลายทางของผู้คนได้นั่งพักก่อนเดินทางต่อไปยังจุดหมาย เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ส่วนพื้นที่ทางเท้าบริเวณสี่แยกราชเทวี มีเขตทางกว้างเป็นเส้นทางผ่านไปยังทางขึ้นรถไฟฟ้าสถานีราชเทวี จึงมีความเป็นไปได้ในการแทรกพื้นที่สาธารณะเข้าไปโดยไม่รบกวนการสัญจรของคนเดินเท้า
โครงการ EatAble scape พื้นที่สาธารณะที่ปลูกพืชผักกินได้ ได้นำความรู้จากงานวิจัยเรื่องระบบการให้น้ำอัตโนมัติเข้ามาลดขั้นตอนการทำงาน การใช้พลังงานทดแทนมาลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ตลอดจนรูปแบบการจัดการพื้นที่ ให้เหมาะสมกับการปลูกพืชโดยคำนึงถึงข้อจำกัดของพื้นที่เมือง การเริ่มคิดจากประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่น ปัญหาพื้นที่สาธารณะเมือง จำเป็นต้องบูรณาการหลายศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาได้จริง ความรู้ทางด้านการเกษตร ด้านสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์รวมถึงการออกแบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานพื้นที่อย่างแท้จริง
สำหรับการออกแบบได้เลือกใช้กระบะปูน ปลูกต้นไม้มาจัดวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทำให้เกิดพื้นที่ใช้งานที่มีหลายระดับเป็นการแยกพื้นที่นั่งพักออกจากเส้นทางสัญจร อีกทั้งกระถางปูนมีลักษณะคล้ายตัวต่อ จึงนำไปปรับใช้ในพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ง่าย ส่วนโครงสร้างหลังคาที่สร้างจุดเด่นเกิดจากแนวคิดการเพิ่มความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุธรรมชาติมาใช้ในการก่อสร้างอาคารเพื่อเตรียมตัว รองรับมาตรการการลดการปล่อยคาร์บอนที่จะมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้ใช้ไม้ยางพารามาพัฒนาให้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการใช้เป็นโครงสร้างอาคารในรูปแบบ LVL Lattice Structure ถือเป็นโมเดลที่สามารถพัฒนาใช้ประโยชน์ต่อได้ในพื้นที่เมืองในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการ EatAble scape พื้นที่สาธารณะที่ รับประทานได้ ถือเป็นตัวอย่างของการรวมงานวิจัยหลาย ๆ เรื่อง หลายสาขา มาแก้ปัญหาให้กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
Print
Tags: