สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมการอบรมใน 3 หัวข้อเรื่อง ได้แก่
1) เรื่อง “ยกระดับแขนขาเทียมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล”
2) เรื่อง “เตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ Frontend มืออาชีพ” และ
3) เรื่อง “กิจกรรมขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการพิมพ์สามมิติจากเส้นพลาสติกผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่”
ณ ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน วช. โดยมีรายละเอียดการจัดกิจกรรมการอบรม ดังนี้
ระหว่างวันที่ 10 - 11 กันยายน 2567 การอบรม เรื่อง “ยกระดับแขนขาเทียมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี ผศ.ดร.นัญชยา สามาลา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านด้านงานกายอุปกรณ์และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวในมนุษย์ จากโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรในการอบรม โดยมีนักเรียนตอบรับเข้าร่วมอบรม จากโรงเรียนดัดดรุณี โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติของกายอุปกรณ์และเทคโนโลยีดิจิตอลในงานกายอุปกรณ์ขาเทียม ได้เรียนรู้การสร้างข้อมูล 3 มิติ ในรูปแบบดิจิตอลโดยการใช้ฟรีชอฟแวร์ และได้เรียนรู้การออกแบบสร้างสรรค์แบบจำลอง 3 มิติ พร้อมทั้งฝึกการ Scan โดยการใช้ Application จาก Smartphone
ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2567 การอบรม เรื่อง “เตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ Frontend มืออาชีพ” โดยมี นายจิรวัศ ตุลยพงศ์รักษ์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาโปรแกรมบนเว็บ จาก สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย) เป็นวิทยากร โดยมีผู้ตอบรับเข้าร่วมอบรมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีวิมลบริหารธุรกิจ โรงเรียนทวีธาภิเศก และโรงเรียนดัดดรุณี นักเรียนที่เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับ What is Website, Introduce HTML, CSS Basic และการ Workshop portfolio รวมถึงได้ฝึกใช้งาน Flex โดยการเล่นเกมจำลองการเขียนโปรแกรม FlexFrog เป็นการฝึกเขียน Layout และได้ลงมือปฏิบัติฝึกทำ Website ที่สร้างสรรค์ด้วยตนเอง
ระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2567 การอบรม เรื่อง “กิจกรรมขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการพิมพ์สามมิติจากเส้นพลาสติกผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่” โดยมี นายชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ และ นายปรินทร แจ้งทวี นักวิจัยด้านการผลิตเส้นพลาสติกจากพอลิเมอร์ผสมกับวัสดุจากธรรมชาติ จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นวิทยากร โดยมีนักเรียนตอบรับเข้าร่วมอบรมจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาดรุณาราชบุรี นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าให้กับขยะเปลือกหอยโดยเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบแคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับผลิตเส้นพลาสติกเพื่องสร้างชิ้นงานจากการพิมพ์สามมิติ พร้อมทั้งได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีของเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติและหลักการทำงานเบื้องต้นของเครื่องพิมพ์แบบทั่วไป รวมถึงได้ทดลองพิมพ์ชิ้นงานจริงด้วยเส้นพลาสติกผลิตจากเปลือกหอยแมลงภู่
พร้อมนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมได้รับใบประกาศนียบัตรจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ ไม่เพียงทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียน แต่ยังได้สัมผัสการเรียนรู้เชิงปฏิบัติจริงจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา