สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการและแสดงผลงานวิจัยในงาน Farm Expo 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2567 ณ บูท M14 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 พร้อมด้วย รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต ประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเกษตร รศ.ดร. มนตรี อิสรไกรศีล และนายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมเปิดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยภายใต้การดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ โดยมี รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เป็นผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ในงาน Farm Expo 2024 ณ บูท M14 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยดังกล่าวด้วย ซึ่งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมีความร่วมมือจากหน่วยงานในภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถของนักวิจัยไทยเพื่อขยายศักยภาพการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก โดยโอกาสนี้ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย ในงาน Farm Expo 2024 และนำผลงานวิจัยจากเครือข่ายของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ มาจัดแสดงกว่า 10 ผลงาน ดังนี้
1. การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและล้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา ของ รศ.ดร.พีระศักด์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร
2. การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ ของ รศ.ดร.พีระศักด์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร
3. การตรวจคุณภาพทุเรียนหมอนทองแบบไม่ทำลายผลิตผลโดยใช้เทคนิคเนียร์อินฟาเรดสเปคโทรสโกปี ของ รศ.ดร.พีระศักด์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร
4. การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ ของ รศ.ดร.พีระศักด์ ฉายประสาท มหาวิทยาลัยนเรศวร
5. ประสิทธิภาพของการใช้สารสกัดหยาบจากใบสัก (Tectona grandis L.f.) ในการควบคุมเชื้อ Colletotrichum musae และ Lasiodiplodia theobromae โรคหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอม ของ ผศ.ดร.นาตยา มนตรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
6. โปรแกรมการประมาณความต้องการน้ำสำหรับไม้ผลเศรษฐกิจ ของ รศ.ดร.สุภัทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
7. เครื่องวิเคราะห์คุณภาพทุเรียนอย่างรวดเร็วด้วยเทคนิค NIR ของ รศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8. ชุดตรวจความแท้ของทุเรียนหลงลับแล ของ รศ.ดร. ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. การใช้ไมคอร์ไรชาในทุเรียนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต เสริมสร้างความต้านทานต่อโรครากเน่าโคนเน่าและสภาวะแห้งแล้ง ของ ดร.รุจิรา ดีวัฒนวงศ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
10. การลดปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลของมะพร้าวน้ำหอม โดยการใช้เมลาโทนินและซิโตรเนลลอล ของ รศ.ดร.วาริช ศรีลออ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
11. ผลของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลพลับพันธุ์ไซโจว ในระหว่างการเก็บรักษาในที่อุณหภูมิที่ต่ำ ของ ผศ.ดร.สมศักดิ์ ครามโชติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โดยการเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความก้าวหน้าทางการวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลไม้ ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้จริง และช่วยเสริมสร้างคุณภาพและมูลค่าของผลไม้ไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน