อว. มอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม Go Green แก่ สธ. และ กต. ในงานครบรอบ 64 ปี วช. เพื่อรับมือปัญหา PM2.5

  • 28 October 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 531
อว. มอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม Go Green แก่ สธ. และ กต. ในงานครบรอบ 64 ปี วช. เพื่อรับมือปัญหา PM2.5
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานในพิธีมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์ด้าน Go Green โดยมอบนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (DustBoy) ให้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และมอบนวัตกรรมสวนบำบัดฝุ่น ให้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เนื่องในโอกาสสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 64 ปี ซึ่งทั้ง 2 ผลงาน เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ณ โถงชั้น 1 อาคาร สวทช. (โยธี) กระทรวง อว. กรุงเทพมหานคร

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า อว. ขอแสดงความยินดี กับ วช. เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี วช. กระทรวง อว. มีความเชื่อมั่นว่า วช. จะมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี กลไก ที่สามารถตอบสนองความท้าทายเร่งด่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางมิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเป้าหมายที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่สุขภาพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดี แก่ประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวง อว. ให้ความสำคัญ ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนา บนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) แนวคิด Resilience คือการบริหารจัดการองค์กรที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น 3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4) โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

“นโยบายของ อว. มุ่งเน้นในด้านการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ "เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ Go Green, พอเพียง, ความยั่งยืน, ความเป็นกลางทางคาร์บอน, พลังงานสะอาด, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจชีวภาพ ,เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)" ซึ่งประเด็นสิ่งแวดล้อม อว. ได้มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ” นางสาวศุภมาส กล่าว

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ โดยการสื่อสารและให้เห็นภาพการทำงานที่เกิดสาธารณประโยชน์แก่พี่น้องภาคประชาชน ซึ่งในขณะนี้ ปัญหาฝุ่นละออง หรือ ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ จากโครงการ “การเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพอากาศด้วยเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 แบบเซ็นเซอร์ (DustBoy)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นวัตกรรม “สวนบำบัดฝุ่น” จากโครงการ “การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในครั้งนี้ อว. มอบนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ จำนวน 500 เครื่อง เป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ 2567 ที่ อว. มอบให้ประชาชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที ลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และ อว. โดย วช. จะดำเนินการจัดสวน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นสวนต้นแบบในการบำบัดฝุ่น ด้วยการจัดเรียงต้นไม้ที่เหมาะสม จะช่วยกำบังฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 20 - 60 ตามลักษณะพื้นที่ และปลูกพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 เช่น ใบขนาดใหญ่ ใบมีขน ใบมีความขรุขระ หรือ ใบมีแว็ก นอกจากนั้นความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้น ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กทำให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็ก

นอกจากมีพิธีมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการใช้ประโยชน์ Go Green ด้วยวิจัยและนวัตกรรมแล้ว วช. ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์ (DustBoy) โมเดลสวนบำบัดฝุ่น กิจกรรมเสวนา กิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ และผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยขายได้ ในบริเวณพื้นที่จัดงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 64 ปี” ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย
Print
Tags: