อว. โดย วช. ร่วมกับทีมนักวิจัย มอ. มช. มก. มช. และ มทส. “วิจัย นวัตกรรม สู้ฝุ่นจิ๋ว”

  • 26 December 2020
  • Author: PMG
  • Number of views: 1702
อว. โดย วช. ร่วมกับทีมนักวิจัย มอ. มช. มก. มช. และ มทส. “วิจัย นวัตกรรม สู้ฝุ่นจิ๋ว”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “วิจัย นวัตกรรม สู้ฝุ่นจิ๋ว” เพื่อนำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “วิจัย นวัตกรรม สู้ฝุ่นจิ๋ว” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1 ชั้น 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มอ. รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน มช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มก. และ รองศาสตราจารย์ ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มทส. ร่วมงานเสวนาวิชาการเรื่อง “วิจัย นวัตกรรม สู้ฝุ่นจิ๋ว” ในประเด็นวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ละภูมิภาค รวมทั้งแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 และผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการ วช. รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ด้วยประเทศไทยประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ
ในชั้นบรรยากาศโดยทั่วไปของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบเชิงลบ
ในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ตามแพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร แผนงานที่สำคัญ (Flagship Project) กลุ่มเรื่อง PM2.5 เพื่อใช้การวิจัยและนวัตกรรมจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในเรื่องคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน โดยมุ่งเน้นการลดปัญหามลพิษทางอากาศ สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ วิจัยศึกษาองค์ประกอบและแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ การตรวจสอบคุณภาพการแพร่กระจายของหมอกควัน การใช้งานระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมทั้งการติดตามการเฝ้าระวังและการเตือนภัยคุณภาพอากาศของประเทศไทย เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วช. เคยให้ทุนวิจัยเพื่อศึกษาฝุ่นในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยได้ขึ้นไปศึกษาชั้นบรรยากาศและมลภาวะทางอากาศบนตึกสูงของกรุงเทพฯ จึงได้พบว่า กรุงเทพฯ นั้นมีฝุ่นละเอียดที่มีองค์ประกอบของสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ จึงเป็นแรงผลักดันในการศึกษาเรื่องนี้ จากการศึกษาพบว่ากรุงเทพฯ นั้นมีวัฎจักรเกิดฝุ่น 4 แบบในรอบปี ได้แก่
1. ฝุ่นหลังเที่ยงคืนที่ความเข้มข้นของฝุ่นสูงมากถึง 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 2. ฝุ่นจากอุณหภูมิผกผัน
ซึ่งอุณหภูมิที่ผกผันทำให้เกิดสภาวะลมนิ่งเหมือนมีฝาชีครอบทำให้ฝุ่นระบายออกจากพื้นที่ไม่ได้ เช่น เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 14 - 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา 3. ฝุ่นเคลื่อนที่ระยะไกล ซึ่งเป็นฝุ่นที่ถูกพัดพามาจากพื้นที่อื่น และ
4. ฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดขึ้นเมื่อมีแสงแดดจัดและทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกลายเป็นฝุ่นขนาดเล็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.สุรัตน์ กล่าวว่าฝุ่นทั้ง 4 แบบไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม เป็นฝุ่นหลังเที่ยงคืน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคมเป็นฝุ่นเคลื่อนที่ระยะไกล หลังจากนั้นเป็นฝุ่นแบบทุติยภูมิ โดยฝุ่นหลังเที่ยงคืนและฝุ่นจากอุณหภูมิผกผันนั้นเป็นฝุ่นในพื้นที่ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ ส่วนฝุ่นระยะไกลนั้นต้องจัดการนอกพื้นที่ ขณะที่ฝุ่นทุติยภูมินั้นเกิดเนื่องจากแดดจัดและเห็นได้ในบางช่วงเวลา ดังนั้น ต้องมีมาตรการจัดการในแต่ละช่วงที่ชัดเจน

รองศาสตราจารย์ ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาฝุ่นว่าเป็นปัญหาซับซ้อน ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิชาการเพียงอย่างเดียว และเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมทางสังคมด้วย
นับเป็นความท้าทายของไทยและเป็นโจทย์ใหญ่ แต่หากทำได้ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ระยะยาว สำหรับภาคเหนือนั้นมีหลายปัจจัยให้เกิดฝุ่น ทั้งลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ลักษณะภูมิอากาศที่เอื้อให้เกิดฝุ่นตามฤดูกาล อีกทั้งในพื้นที่เกิดไฟป่าทุกปี โดยในอดีตไม่มีผลกระทบมากนัก แต่เมื่อช่วงปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา มีปัญหามากขึ้น เพราะบริบททางสังคม อากาศและอาชีพของคนเปลี่ยนไป ซึ่งการแก้ปัญหาฝุ่นต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่น
เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

ส่วนปัญหาฝุ่นทางภาคใต้นั้น ศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าปกติภาคใต้มีอากาศสะอาดทั้งปี แต่จะมีปัญหาฝุ่นละอองเป็นคาบเวลาจากการเผาป่าพรุในอินโดนีเซีย
ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กจากระยะทางที่ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรนั้นถูกกระแสลมบนพัดมาถึงประเทศไทย
ในเวลาเพียง 1-2 วัน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ยิ่งมีปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ยิ่งทำให้ไฟป่ารุนแรงและมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่สูงมาก และพบความเป็นพิษของฝุ่นสูงมากถึง 16 ชนิด

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่าประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสารตะกั่วในน้ำมัน และกำจัดควันขาวในรถยนต์จักรยานยนต์
ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาชั้นบรรยากาศของไทย และได้รับการยกย่องจากธนาคารโลกในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่แก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ส่วนปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาใหม่ที่ต้องแก้ตอนนี้ หากเลื่อนการแก้ปัญหาออกไป 5 ปี กว่าจะเห็นผลสำเร็จต้องใช้ต่อไปอีก 10-15 ปีจึงจะเห็นผล

สุดท้าย วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่าง วช. และเครือข่ายหน่วยงานวิจัย สามารถบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปสู่คำตอบในการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเป็นระบบ และบรรลุตามเป้าหมายทุกประการ เพื่อให้ประเทศไทยมีอากาศบริสุทธิ์ และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีจากการมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
Print
Tags: