ไทย-จีน ร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง วช. และมหาวิทยาลัยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ไทย-จีน ร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง วช. และมหาวิทยาลัยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) จัดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 13” (The 13th Thai – Chinese Strategic Research Seminar) ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน” (Strategic Partnership to Jointly Build a Sustainable Community) ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา และเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พิธีเปิดการสัมมนาฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ Professor LIN Hongyu รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกล่าวเปิดการสัมมนาฯ

 

ดร.วิภารัตน์ฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง กอปรกับการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 13 ในครั้งนี้ ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนในทุกมิติ  อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการขยายความร่วมมือและโอกาสทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และช่วยสนับสนุนการสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันบนเส้นทางสายมิตรภาพนี้ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

 

Professor LIN Hongyu รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ประเทศไทยและจีนได้มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน เป็นพันธมิตรกันในหลากหลายมิติ ในส่วนของความร่วมมือทางวิชาการไทย-จีน ระหว่าง วช. และ HQU ได้ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันจัดเวทีสัมมนาด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-จีน มาทั้งสิ้น 12 ครั้ง และในครั้งที่ 13 มีความตั้งใจส่งเสริมให้นักวิชาการ/นักวิจัยได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน-ภูมิภาคอาเซียน ผ่านการทำความร่วมมือทางวิชาการอันเข้มแข็งระหว่าง วช. กับ HQU อันมีรากฐานมาจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Ms. LI Jijuan ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวแสดงความยินดี โดยกล่าวว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน สร้างโอกาสให้ประชาชนในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งได้รับมาจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและแนวทางการศึกษา โดยมุ่งหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นไป

 

นอกจากนี้ ในช่วงปาฐกถาพิเศษ ได้รับเกียรติจาก Professor FAN Hongwei ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน (Xiamen University) และประธานสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Society for Southeast Asian Studies) กล่าวในประเด็นเรื่อง “China and Southeast Asia: Renavigating Relations Since 2013“ และศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และประธานคณะทำงานเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) กล่าวในประเด็น “ความร่วมมือระหว่าง วช. กับ HQU ผ่านการเปลี่ยนผ่านทางภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง วช.”

 

การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ 2555 โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ มีวัตถุประค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-จีน ด้านการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อย่างมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรและการรวมเป็นหนึ่งระหว่างชุมชนและนักวิจัยไทย-จีน อันก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ

Print
Tags: