วันที่ 27 มกราคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 3 (The 3rd General Assembly) ของสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Science Council, ISC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มกราคม 2568 ณ Oman Convention & Exhibition Centre กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน โดยมี His Highness Sayyid Asaad bin Tarik Al Said รองนายกรัฐมนตรีด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกียรติร่วมงาน โดยมี H.E. Prof. Rahma Al-Mahrooqi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ประเทศโอมาน และ Sir Peter Gluckman - ISC President กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน ในโอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมงาน โดยในวาระดังกล่าว ท่านวารุณี ปั้นกระจ่าง เอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต และศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย
H.E. Prof. Rahma Al-Mahrooqi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ประเทศโอมาน ได้กล่าวถึง การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาในประเทศโอมาน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้และวิทยาศาสตร์ โดยต้องคำนึงถึงการใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติและความยั่งยืน และควรมีจุดประสงค์หลักเพื่อสวัสดิภาพของมนุษยชาติและการช่วยเหลือผู้เปราะบาง นอกจากนี้ ประเทศโอมานได้กำหนดให้มี Oman Vision 2040 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม โดยการสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการวิจัย เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมของโอมานให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรม มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยในหลากหลายสาขา เช่น สุขภาพ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการเรียนภาษาอาหรับ และการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ซี่งสะท้อนให้เห็นว่าโอมานให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา โดยมุ่งเน้นการใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Sir Peter Gluckman - ISC President ได้กล่าวว่า ISC ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 จากการควบรวมกันระหว่าง International Council for Science (ICSU) และ International Social Science Council (ISSC) เพื่อเป็นองค์กรกลางที่เป็นตัวแทนด้านวิชาการในระดับนานาชาติ และส่งเสริมการใช้หลักฐานและความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก โดย ISC ได้พยายามพัฒนารูปแบบการเสวนาใหม่เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับนโยบาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิทยาศาสตร์กำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงจาก AI ในการผลิตองค์ความรู้ การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน รวมถึงปัญหาการบิดเบือนข้อมูลและความไม่เชื่อมั่นในสถาบันวิทยาศาสตร์ จึงมีความจำเป็นที่วิทยาศาสตร์ต้องมีเสียงที่เป็นเอกภาพมากขึ้น ในโอกาสนี้ ประธาน ISC ได้กล่าวว่า ประเทศโอมานเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และการศึกษาในระดับสูง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการทูตวิทยาศาสตร์ การประชุมครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของทุกประเทศ ทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาสหภาพวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Council for Science : ICSU) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางด้านวิทยาศาสตร์ของโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) และต่อมาได้มีการควบรวมกันระหว่าง ICSU และสภาสังคมศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Social Science Council : ISSC) เกิดเป็นองค์กรใหม่ชื่อว่า International Science Council (ISC) เพื่อให้เกิดประชาคม
ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญปัญหาที่เป็นความท้าทายหลายประการ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และทำให้เกิดการขยายขอบเขตสาขาในการวิจัยในระดับนานาชาติ และการเข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างและผนึกกำลังความร่วมมือของประเทศสมาขิกโลกของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ควบคู่กันอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกมิติเพื่อสาธารณะของโลก (Public good) ตามเป้าหมายของ ISC