คณะผู้บริหารสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) เยือน วช. ร่วมหารือเพื่อเตรียมพร้อมการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ CASS-NRCT CCS อย่างเป็นรูปธรรม

  • 10 December 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 321
คณะผู้บริหารสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) เยือน วช. ร่วมหารือเพื่อเตรียมพร้อมการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ CASS-NRCT CCS อย่างเป็นรูปธรรม

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร วช. ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) นำโดย นายหลิว ลี่บิน (Mr. LIU Libin) รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยกลยุทธ์ระหว่างประเทศแห่งชาติ (National Institute of International Strategy, NIIS) โดยการเยือนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences-National Research Council of Thailand Centre for China Studies, CASS-NRCT CCS) ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งประเด็นในการพูดคุยประกอบด้วย (1) การทำวิจัยร่วมไทย-จีน (2) การแลกเปลี่ยนนักวิจัยภายใต้การดำเนินงานของศูนย์วิจัยจีนฯ และ (3) พิธีเปิดศูนย์วิจัยจีนฯ ณ วช. และการสัมมนาวิชาการไทย-จีน ครั้งที่ 4 (The 4th China-Thailand Think Tank Forum) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีหน้า
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง (ผวช.) กล่าวว่า วช. และ CASS ได้มีความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องมาแล้วกว่า 23 ปี โดยได้จัดการสัมมนาวิชาการคลังสมองที่ส่งเสริมการวิจัยในประเด็นสำคัญและเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีนักวิจัยไทยและจีนเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่อง และจากการสัมมนาวิชาการคลังสมอง Think Tank Forum ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ได้เกิดความร่วมมือสำคัญในการยกระดับการดำเนินการเชิงรุกด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมงานวิจัยระหว่างไทย-จีน ให้เกิดผลเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และการพบปะกันในครั้งนี้จะได้เห็นความร่วมมือทางวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์กับจีนอย่างลึกซึ้ง เป็นระบบ และมีความก้าวหน้าในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านโครงการและกิจกรรมที่เชื่อมโยงนักวิจัยและนักวิชาการของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศในระยะยาวร่วมกัน และความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนของทั้ง 2 ประเทศ จะมีส่วนช่วยในการบรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติต่อไป
พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารสถาบันสังคมศาสตร์จีนได้เยี่ยมชมกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ณ ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน อาคาร วช. 7 ประกอบด้วย (1) การปลูกผักสวนครัวและสลัด วิทยากรโดย นายจิรายุ พรมเทวา สังกัด Cha-ame Tip Farm ได้อธิบายกิจกรรมการอบรมเพาะกล้าและอธิบายหลักการปลูกผัก อินทรีย์ โดยเทคนิคการใช้ดิน กิจกรรมอบรมการดูแลผัก และการใช้อุปกรณ์การเกษตรเบื้องต้น (2) ศิลปะบนก้อนสบู่ (DIY Herb Soap) วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และ นายกฤติเดช อนันต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่ากิจกรรมนี้เป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรังสรรค์เป็นก้อนสบู่ที่มีสารสกัดสมุนไพรสำหรับลดปริมาณแบคทีเรียและเชื้อโรคที่ติดมากับร่างกาย พร้อมช่วยบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส อีกทั้งกิจกรรมนี้เป็นการทำสบู่ที่ช่วยลดการก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน และ (3) โดรนแปรอักษร “Sky Innovation : Coding for Drone Mastery” วิทยากรโดย อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ อธิบายถึงนวัตกรรมที่ใช้โดรนบินรวมกลุ่มกันอยู่บนท้องฟ้า โดยการจัดเรียงตัวกันเป็นรูปภาพต่าง ๆ ซึ่งโดรนแต่ละลำมีการติดตั้งหลอด LED ที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงสีต่าง ๆ จุดเด่นของโดรนแปรอักษรคือ การควบคุมโดรนจำนวนหลายร้อยลำให้บินอยู่บนท้องฟ้าด้วยคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ปัจจุบันมีการใช้โดรนแปรอักษรมาใช้ในการเฉลิมฉลองแทนการจุดพลุไฟ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดมลพิษด้านเสียง และมลพิษทางอากาศ แถมยังสามารถกำหนดรูปแบบการแสดงได้ตามต้องการอีกด้วย
Print
Tags: