วช. จัดการบรรยายในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของงานวิจัยด้านการเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Challenge and Opportunity in Catalytic Research for Biorefinery)”

วช. จัดการบรรยายในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของงานวิจัยด้านการเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Challenge and Opportunity in Catalytic Research for Biorefinery)”

















สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการบรรยายเรื่อง “โอกาสและความท้าทายของงานวิจัยด้านการเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Challenge and Opportunity in Catalytic Research for Biorefinery)” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 ในงาน “อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การบรรยายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ ได้รับเกียรติจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญร่วมบรรยายด้วยประกอบด้วย ศ. ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม บรรยายถึงที่มาของ “ศูนย์กลางด้านความรู้วิศวกรรมตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่” ที่มีเป้าหมายในยกระดับเทคโนโลยีด้านตัวเร่งปฏิกิริยาในประเทศ ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้และเป็นศูนย์รวมของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านตัวเร่งปฏิกิริยาที่ตอบความต้องการของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรม ผ่านการอบรมให้ความรู้และการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านตัวเร่งปฏิกิริยาของประเทศขนานกับการสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้อุตสาหกรรมไทย
ในงานสัมมนายังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา โดย รศ. ดร.อรรถพล ศรีฟ้า จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยายการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานิกเกิลฟอสไฟด์ที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูงสำหรับการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันใช้แล้ว รศ. ดร.กิตติศักดิ์ ชูจันทร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บรรยายขั้นตอนของการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการผลิตกรดไขมัน ศ. ดร.ตะวัน สุขน้อย จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าถึงการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับกระบวนการเปลี่ยนกลีเซอรอลไปเป็นสารเคมีชีวภาพ ที่จะเป็นสารตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง จากสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เล่าถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้ในการผลิตสารชีวเคมีและเชื้อเพลิงชีวภาพจากชีวมวลโดยเฉพาะวัสดุในกลุ่มลิกโนเซลลูโลส จากนั้น ศ. ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม ให้ความรู้เรื่องกลไกการเสื่อมสภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่และการนำตัวเร่งปฏิกิริยากลับมาใช้ใหม่ และภายในงานได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการบรรยาย
ทั้งนี้งานวิจัยด้านการเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ มีความสำคัญต่อประเทศไทยตามนโยบายการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะผู้จัดงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะสร้างความแข็งแกร่งของสหวิทยาการในทุกด้าน ที่นำไปสู่การพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถและพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของโลกยุคใหม่ไปสู่ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
Print