วช. จัดการเสวนา เรื่อง “นวัตกรรมพลาสมาและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์”

วช. จัดการเสวนา เรื่อง “นวัตกรรมพลาสมาและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์”




















วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา เรื่อง “นวัตกรรมพลาสมาและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” โดยมีวิทยากรจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลาสมาอย่างยั่งยืน ศ.ธีรวรรณ บุญญวรรณ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.สมศักดิ์ แดงติ๊บ จาก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รศ.ดร.คณิศร์ มาตรา จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ. ดร.อาทิตย์ ฉิ่งสูงเนิน จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.พุฒิธร ธะนะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม MR 205 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รศ.ดร.สมศักดิ์ แดงติ๊บ ผู้แทนจากศูนย์ฯ ได้ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า การศึกษานวัตกรรมพลาสมาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับเทคโนโลยีโดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านเกษตรกรรม การลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลผลิต การปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมอาหาร การกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ การบริการเพิ่มคุณภาพของวัสดุ การปรับปรุงพื้นผิว การเคลือบฟิล์มบาง ในวัสดุหลากหลายชนิด เช่น สิ่งทอ พอลิเมอร์ ด้านการแพทย์ ในการนำเครื่องพลาสมาเย็นมารักษาผู้ป่วยเพื่อรักษาแผลผู้ป่วยเรื้อรังและแผลผ่าตัด และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาด้านสิ่งแวดล้อม สู่การเชื่อมโยงผลงานวิจัยให้พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
โดยมีหัวข้อการเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ หัวข้อ “นวัตกรรมพลาสมาและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” หัวข้อ “ร่วมควบคุมเครื่องโทคาแมคจำลองและต้นแบบชุดอุปกรณ์วัดอุณหภูมิของไอออนและอิเล็กตรอนในเครื่องโทคาแมคฝีมือนักวิทยาศาสตร์ไทย” หัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาด้านการเกษตร” หัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาด้านการแพทย์” หัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาด้านวัสดุศาสตร์ และ หัวข้อ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาด้านสิ่งแวดล้อม”
ถัดมาเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “นวัตกรรมพลาสมาและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” ได้แก่ นวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยพลาสมา โดย บริษัท แพทการ์เด้นส์ จำกัด , เครื่องพลาสมาอากาศ Compact Air Plasma Jet รุ่น Nightingale® โดย บริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด , เครื่อง PlasOne ผลิตภัณฑ์พลาสมาเย็นเพื่อการฟื้นฟูเส้นผม โดย บริษัท โมเดิร์นพลาส คอร์ปอเรชั่น จำกัด , เครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยนวัตกรรมพลาสมา โดย บริษัท จีเอ็ม ออโตเมชั่น จำกัด และโซนนิทรรศได้นำผลิตภัณฑ์ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ฯ มาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้
ทั้งนี้ วช. ขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าร่วมงาน “อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” สัมผัสประสบการณ์สุดล้ำ พบกับนวัตกรรมล้ำสมัย ผลงานวิจัยสุดล้ำ และกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
Print