วช. จัดเสวนา “กลุ่มวิจัยกับการแก้ไขวิกฤติหนี้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน” ผลักดันการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างครบวงจรและยั่งยืน เนื่องในโอกาส วช.ครบรอบ 65 ปี

วช. จัดเสวนา “กลุ่มวิจัยกับการแก้ไขวิกฤติหนี้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน” ผลักดันการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างครบวงจรและยั่งยืน เนื่องในโอกาส วช.ครบรอบ 65 ปี
























วันที่ 21 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมเสวนาเนื่องในโอกาส วช.ครบรอบ 65 ปี ภายใต้แนวคิด “65 ปี บูรณาการความรู้ เชิดชูนักวิจัย สร้างอนาคตไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในหัวข้อ เรื่อง “กลุ่มวิจัยกับการแก้ไขวิกฤติหนี้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน” ผลักดันการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างครบวงจรและยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก จาก รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ เมธีวิจัยอาวุโส วช. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช เมธีวิจัยอาวุโส วช. และ กรรมการ สภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คุณเชษฐา แหล่ป้อง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรด้านบริหารหนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) คุณพสธร หมุยเฮบัว ผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จังหวัดนครราชสีมา และคุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ก่อตั้ง Ricult (รีคัลท์) เป็นผู้ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช. 1 ชั้น 2

ดร. โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ เมธีวิจัยอาวุโส วช. ได้นำเสนอภาพรวมของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโสจาก วช. เรื่อง “โครงการสนามทดลองเพื่อแก้หนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน” ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนักวิชาการ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาสถานการณ์หนี้เกษตรกรไทยในปัจจุบัน ทั้งการมีหนี้สินในวงกว้างจากหลายแหล่ง การมีหนี้สูงเกินศักยภาพที่จะชำระได้ และมาตรการพักหนี้ของรัฐที่เน้นแก้หนี้ระยะสั้น แต่ยากที่จะแก้อย่างยั่งยืน จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกรกว่า 50% เป็นลูกหนี้กลุ่มเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการสนามทดลองฯ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างรากฐานและผลักดันการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และได้ยกตัวอย่างการทดลองนโยบาย/มาตรการกระตุ้นชำระหนี้ อาทิ 1) มาตรการพักหนี้รูปแบบใหม่ (ลด normal hazard) 2) ชำระดีมีโชค (กระตุ้นการชำระหนี้) 3) ธนาคารใกล้บ้าน (ลดอุปสรรคในการชำระหนี้) ผลจากสนามทดลองดังกล่าวจึงได้ให้ 3 บทเรียนสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรไทย คือ 1) สื่อสารมาตรการคือหัวใจ 2) จาก “รัฐ ช่วยพัก” เป็น “รัฐ-ธนาคาร-ลูกหนี้ ช่วยกันจ่ายหนี้” และ 3) กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจชำระหนี้แก่ลูกหนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกลไกเล็ก ๆ แต่สำคัญในการผลักดันการแก้หนี้อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช ผู้ดำเนินรายการชวนคณะวิทยากรแลกเปลี่ยนข้อมูลสาเหตุของปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย โดย คุณพสธร หมุยเฮบัว ได้นำเสนอมุมมองในฐานะของผู้นำของชุมชนเกษตรกร ซึ่งมีหนี้สินจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางการเกษตร และการส่งเสียค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน รวมถึงสาเหตุที่สำคัญคือ การขาดองค์ความรู้ทางการเงิน และในมุมมองของธนาคาร
คุณเชษฐา แหล่ป้อง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้เล่าถึงผลกระทบของมาตรการพักหนี้ช่วงการระบาดโรคโควิด-19 และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้ลูกหนี้เรื้อรังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมา ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่าเกษตรกรรมเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ เนื่องจากมีความเสี่ยงทั้งทางด้านผู้สูงอายุและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้ง คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ได้แสดงข้อมูลจากผลงานวิจัยที่ผ่านมาในมิติของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรกรที่ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน และนโยบายเงินกู้ต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบค่อนข้างสูง (High Transaction Cost) นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ได้เพิ่มเติมสาเหตุของปัญหาในมิติทางการเมือง โดยกล่าวเชื่อมโยงถึงจำนวนลูกค้าเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ทำให้พันธกิจการเข้าถึงครัวเรือนเกษตรของ ธ.ก.ส. สำเร็จ และเกิดการขยายตัวของสินเชื่อตามนโยบายหาเสียงของรัฐ อย่างไรก็ตาม ความไม่สมมาตรของโครงสร้างหนี้ยังคงทำให้เกษตรกรมียอดหนี้สินที่สูงขึ้น
ถัดมา วิทยากรได้ร่วมสะท้อนภาพการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจากมุมมองต่างๆ โดย ธ.ก.ส. ได้มีทั้งมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดหนี้และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร โดยเน้นที่การปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้ของเกษตรกร พร้อมทั้งลด ปลด หรือขยายระยะเวลาการใช้หนี้ตามเหตุเร่งด่วนและความจำเป็น ในทางกลับกัน การพัฒนาลูกค้า หรือเกษตรกร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การเสวนาครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างภาคเกษตรกร ธนาคาร และนักวิชาการ ซึ่งจะนำไปสู่การแสวงหานวัตกรรม และข้อริเริ่มร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งกิจกรรมเสวนาเนื่องในโอกาส วช.ครบรอบ 65 ปี มีหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก และ กิจกรรม ชิม ช็อป ชิล ตลาดงานวิจัย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ


Print