วช. จับมือ EARTH ร่วมรำลึก 20 ปี สึนามิ สร้างมาตรการรับมือผ่านความร่วมมือทางวิชาการ สร้างความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง

วช. จับมือ EARTH ร่วมรำลึก 20 ปี สึนามิ สร้างมาตรการรับมือผ่านความร่วมมือทางวิชาการ สร้างความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) จัดกิจกรรม “2 ทศวรรษ ภัยพิบัติสึนามิ” และประชุมสัมมนาวิชาการ “งานวิจัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ครั้งที่ 2” หรือ “The 2nd Thailand Symposium on Earthquake Research (TSER2024)” ในวาระสำคัญ 2 ทศวรรษภัยพิบัติสึนามิ ณ จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 11 – 13 ธันวาคม 2567 โดยมีกิจกรรมเวิร์กช็อปเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ และสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้ายภัยพิบัติสึนามิ โดยได้รับเกียรติกล่าวเปิดการประชุมวิชาการฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกล่าวสร้างความมั่นใจด้านการท่องเที่ยว โดย ดร.ภัทรวรรณ ณ นคร ที่ปรึษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว และคุณฮารุกะ โอซาวะ เลขานุการโท ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมืองานวิจัยและนวัตกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น

เริ่มกิจกรรมวันแรก (วันที่ 11 ธันวาคม 2567) ด้วยการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อป ควบคู่กับการบรรยายให้ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ และกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ให้แก่นักเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย เน้นการใช้เครื่องมือจริงและการเล่นเกมเพื่อเสริมสร้างความรู้และเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างถูกต้อง โดยทีม EARTH และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น

วันที่สอง (วันที่ 12 ธันวาคม 2567) EARTH จัดเส้นทางย้อนรำลึกสถานที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 โดยเริ่มจากสวนอนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเป็นสถานที่ประสบพิบัติภัยสึนามิอย่างรุนแรง โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง และร่วมแลกเปลี่ยนกับคุณประยูร จงไกรจักร ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิและปัจจุบันท่านเป็นแกนนำทีมเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติร่วมกับชุมชนและภาครัฐอย่างต่อเนื่องตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา จนทำให้ชุมชนบ้านน้ำเค็มเป็นชุมชนต้นแบบในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัตที่โดดเด่นของจังหวัดพังงา จุดที่สองเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเหตการณ์สึนามิ และจัดแสดงเป็นนิทรรศการผ่านสื่อวิดีทัศน์เหตุการณ์การเกิดสึนามิ การรับฟังเรื่องเล่าจากผู้รอดชีวิต ความรู้เบื้องต้นของสึนามิ การเล่าเรื่องจากวัตถุ เช่น เครื่องใช้ของโรงแรม อุปกรณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยว รถยนต์ รวมไปถึงการเรียนรู้และการป้องกันภัยในการเกิดเหตุและยังเป็นสถานที่หลบภัยสึนามิหากเกิดเหตุในอนาคตได้อีกด้วย ต่อมาในจุดที่สามเป็นการเยี่ยมชมศูนย์พักพิงชั่วคราว (ที่ว่าการตำบลบางม่วง) ต่อด้วย พิพิธภัณฑ์สึนามิ และอนุสรณ์สถานสึนามิ เรือตรวจการณ์ หมายเลข 813 (บุเรศผดุงกิจ) และจุดสุดท้ายเยี่ยมชมอาคารหลบภัยสึนามิ (บ้านบางเนียง และแหลมปะการัง)

และวันที่สาม (13 ธันวาคม 2567) เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์สึนามิด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม วช. โดย EARTH และเครือข่ายความร่วมมืองานวิจัยภัยพิบัติสึนามิจากหลากหลายประเทศ ร่วมกันเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิที่ดำเนินการวิจัยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและต่างประเทศ มาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและความร่วมมือในการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสึนามิ พัฒนาระบบเตือนภัย และการฟื้นตัวหลังเกิดภัยอย่างต่อเนื่อง การประชุมสัมมนานี้ไม่เพียงแต่นำเสนอด้านการวิจัยเท่านั้น แต่ยังมีการเรียนรู้จากกันและกันและส่งเสริมความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อไป ซึ่งประเทศไทยได้สร้างความพร้อมและเตรียมการรับมือผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นใจได้ว่าสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความร่วมมือของทุกฝ่าย

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) กล่าวว่าภัยพิบัติสึนามิที่เกิดขึ้นทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง ที่ผ่านมาได้ศึกษาวิจัยและปรับปรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์วัดระดับน้ำทะเลและคลื่นสึนามิ โมเดลจำลองการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ รวมถึงนำมาตรการที่ได้ผลของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของไทย ทั้งนี้มีหลายสิ่งที่ยังคงต้องการเสริมสร้างความพร้อม เช่น ระบบเตือนภัย ซึ่งหลายพื้นที่อยู่ห่างไกลจากหอเตือนภัย และแนะนำให้ปรับไปใช้ระบบการส่งข้อความจากวิทยุโทรทัศน์มาเป็นการส่งเข้ามือถือเพื่อให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้อย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับในต่างประเทศ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการซักซ้อมอพยพเสมือนจริง และมีการเตรียมความพร้อมศูนย์พักพิงที่เหมาะสม บางแห่งที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีที่หลบภัยแนวดิ่งเป็นอาคารสูงที่แข็งแรง ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น โรงแรม เพื่อขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่ และจัดทำป้ายนำทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัพิบัติสึนามิ ลดผลกระทบและความสูญเสียให้น้อยที่สุด

Print