สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้งานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (The Commemoration of the 20th Anniversary of Indian Ocean Tsunami) ระหว่างวันที่ 26 - 27 ธันวาคม 2567 ณ จังหวัดพังงา โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านบูธนิทรรศการให้ความรู้ในการอพยพหนีภัย การรักษาเบื้องต้น ไปจนถึงสาธิตการกู้ชีพผ่านเกม VR simulation เสมือนจริง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมเป็นเจ้าภาพเสวนาวิชาการ “จากวิจัยและนวัตกรรม.. สู่ทางรอดภัยสึนามิ” เวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อยกระดับความพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดเสวนาวิชาการฯ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นที่สำคัญของประเทศ และตระหนักถึงประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย ดินโคลนถล่ม อุทกภัยและภัยแล้ง จึงริเริ่มแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) โดย “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand – EARTH)” ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานในระบบวิจัยและ ปภ. ได้มีพัฒนาระบบเตือนภัย กลไกการจัดการภัยพิบัติ และการฟื้นตัวหลังเกิดภัยอย่างต่อเนื่อง โดย วช. ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสร้างความพร้อมและเตรียมการรับมือผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรม และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนา ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอนาคต สร้างความมั่นใจได้ว่าสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบ รวมถึงการบรรเทาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเวทีนี้จะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการภัยพิบัติ รับรู้ถึงความมุ่งมั่นในการเตรียมพร้อมรับมือ บริหารจัดการ และฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ สร้างโอกาสในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในการสนับสนุนและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่อไป
ศ. ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึง แผนงาน ววน. การพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มุ่งยกระดับคุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสู่ความร่วมมือและบูรการณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือประชาชนทั่วไป ภายใต้วิสัยทัศน์ “SRI for ALL” ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน. 2) การบริหารจัดการองค์กร และ 3) การบริหารจัดการกองทุน และชี้ช่องว่างงานวิจัยในประเด็นการบรรเทาปัญหาและการฟื้นฟูเยียวยา พร้อมเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมยกระดับความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย ววน. และขับเคลื่อนสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคต มุ่งให้ความสำคัญกับ “ระบบเตือนภัย” 1) หอแจ้งเตือนภัยสึนามิ ต้องเตือนภัยได้จริงและทั่วถึงโดยมีรัศมีอย่างน้อย 1 กิโลเมตร 2) กระตุ้นประเทศไทย ถึงเวลาหรือยังที่จะมีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast” ผ่านมือถือของทุกคนทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งนางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดี ปภ. เผยข่าวดีถึงความพร้อมของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Cell Broadcast) ของประเทศไทยพร้อมเปิดใช้เตือนภัยได้ภายในปี 2569 และสุดท้าย 3) ต้องไม่ลืมที่จะเตรียมความพร้อมเส้นทางอพยพและซักซ้อมการอพยพเสมือนจริงอย่างต่อเนื่อง
โดยนางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สว.จังหวัดพังงา และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สึนามิ กล่าวสนับสนุนการซักซ้อมอพยพเสมือนจริงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ โดยเสนอให้ผสานจัดร่วมกับกิจกรรมการวิ่งเพื่อสุภาพซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยกำหนดเส้นทางเสมือนการอพยพจริง เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้เส้นทางอพยพสอดแทรกในกิจกรรมการวิ่งเป็นประจำทุกปี
ผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ นักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแผนที่เสี่ยงภัยและแบบจำลองการอพยพหนีภัย โดยใช้ปัจจัยเสมือนจริง พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมรับมือภัยพิบัติและมีการกำหนดเส้นทางอพยพหนีภัยแล้ว แต่ยังขาดการบำรุงรักษา อาทิ อาคารหลบภัย ป้ายแจ้งเตือนภัย และวิธีการอพยพ อีกทั้งยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดวิธีการอพยพและทำความเข้าร่วมและข้อตกลงร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อมั่นว่านักวิจัยนักวิชาการพร้อมส่งต่อและถ่ายทอดผลงานวิจัยและนวัตกรรม และร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อยกระดับความพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญจพาณ์ สุขโข จากสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย และแกนนำ STIN RSA ร่วมกับ EARTH ถ่ายทอดองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ “Disaster Education” ให้แก่คุณครูและนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัยตระหนักรู้และสามารถจัดทำแผนรับมือการอพยพหนีภัย โดยแบ่งหน้าที่ กำหนดจุดรวมพล และการกู้ชีพเบื้องต้นในเหตุการณ์เสมือนจริง และปิดท้ายด้วยการเชิญชวนผู้เข้าร่วมรับฟังเสวนาฯ ลองอพยพหนีภัยผ่านเกมสนุกสนานที่สอดแทรกองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม.. สู่ทางรอดภัยสึนามิ