วช. นำทีม HTAPC ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของประเทศไทย ในงาน อว.แฟร์

วช. นำทีม HTAPC ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของประเทศไทย ในงาน อว.แฟร์

















วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีเสวนา "การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของประเทศไทย ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ" หรือ HTAPC เพื่อนำเสนอประสบการณ์ในการดำเนินงานที่ผ่านมาในมุมมองของภารกิจหน่วยงานที่แตกต่างกันแต่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศไทย ภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ โดยมี ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ คุณนิตยา ไชยสะอาด กรมควบคุมมลพิษ ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รศ. ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณภัณฑิรา สะพานแก้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันเสวนาบนเวที ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม MR 205 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา กล่าวถึง ที่มาและความสำคัญของการจัดตั้ง ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ เพื่อเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ครอบคลุมในทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการสร้างแบบจำลองทางภูมิอากาศ ระบบการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และการควบคุมมลพิษทางอากาศ และการรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทำให้เกิดประโยชน์ ที่จะนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เห็นได้จากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และการทำงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ ที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล และรวบรวมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำระบบฐานข้อมูล หรือ Big data ซึ่งการจัดทำ Big data ด้านฝุ่น PM2.5 โดย วช. ได้สนับสนุนการวิจัย และนวัตกรรม ภายใต้แผนงาน P24 ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนของประเทศไทย
คุณนิตยา ไชยสะอาด กล่าวถึงระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของประเทศไทย ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานภายใต้ภารกิจของกรมควบคุมมลพิษ โดยในประเทศไทยมีการติดตามตรวจสอบด้านอากาศ 2 ประเภท คือ 1. การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ 2. การตรวจวัดการระบายมลพิษทางอากาศ (ตรวจวัดจากแหล่งกำเนิดมลพิษเฉพาะ) ซึ่งมีบทบาทและเป็นส่วนสำคัญของระบบการบริหารจัดการคุณภาพอากาศของประเทศให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ผ่านกลไก มาตรการ และนโยบายของประเทศ ซึ่ง กรมควบคุมมลพิษได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ สำหรับมลพิษทางอากาศทั่วไป สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟด์ ที่ใช้สำหรับเครือข่ายการติดตามตรวจสอบ 4 กลุ่ม คือ เครือข่ายสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ ประกอบด้วย 96 สถานีตรวจวัด ครอบคลุม 65 จังหวัด เครือข่ายการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย เครือข่ายการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ภายนอกอาคาร (Outdoor unit) ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ประโยชน์ (ศึกษาระยะสั้นตามสถานการณ์) และหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ 6 หน่วย โดยมีการนำเสนอข้อมูลผ่าน Air4Thai Application ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษกำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดแห่งชาติ เพื่อเชื่อมโยง รวบรวม และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลสถิติ ข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลการระบายมลพิษทางอากาศ แหล่งกำเนิดมลพิษ ขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และข้อมูลสุขภาพ รวมถึงการร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์กลางสำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเครื่องมือวัดแบบเซ็นเซอร์
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา นำเสนอระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ โดยการดำเนินงานในมิติต่างๆ เช่น การสร้างแอปพลิเคชัน AirBKK สำหรับนำเสนอค่าจาการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ในเขต กรุงเทพฯ การจัดทำโครงการ Air Quality Flags in BMA Schools ร่วมกับโรงเรียนในกทม. ในการแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยการปักธงสีต่างๆ การประเมินการปลดปล่อย PM2.5 จากภาคการจราจรที่มีการปรับลดค่ากำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงให้ไม่เกิน 10 ppm ทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นวงกว้าง และการศึกษาผลกระทบจากหมอกควันที่มาจากนอกพื้นที่ และหวังว่าท้องฟ้าใน กรุงเทพฯ จะแจ่มใส และอากาศดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝุ่นละออง PM2.5
ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร กล่าวถึง การตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านดาวเทียม เป็นการขยายมุมมองในการมองเห็นของมนุษย์ทั้งในส่วนที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตา และส่วนที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา โดยดาวเทียมจะศึกษากิจกรรมทั้งหมดที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทั้งในมิติของช่วงเวลา และมิติของพื้นที่ ทำให้เกิดเรื่องราวของการเกิดขึ้นของฝุ่น โดยย้อนรอยประวัติศาสตร์ของฝุ่นกลับไป 20 ปี (ค.ศ.2003-2023) จะพบพฤติกรรมฝุ่น PM2.5 และจุดความร้อนในประเทศไทย แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของประชาชน จากข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน และมีแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ที่ใช้สำหรับติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา NASA ร่วมมือกับ กระทรวง อว. โดย GISTDA และหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ HTAPC และสถาบันจากต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาภายใต้กระทรวง อว. ในการศึกษา วิเคราห์ สังเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศ โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ต่างๆ ภายใต้สาขามลพิษอากาศและภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้เห็นพฤติกรรมฝุ่นที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ดังประโยคที่กล่าวว่า “A man must rise above the Earth, to the top of the atmosphere and beyond, for only then will he fully understand the world in which he lives.” – Socrates
รศ. ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว กล่าวถึงที่มาของการใช้งาน Low Cost Sensor เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของข้อมูล การเข้าถึง รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านการวัดคุณภาพอากาศ เช่น การตรวจวัด Forest Fire Detection โดย Machine Learning ผ่านการจำแนกข้อมูล (Data Labeling) ข้อมูลสามารถบอกช่วงเวลาที่มีไฟป่า หรือ ไม่มีไฟป่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม Low Cost Sensor ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน จากการเปรียบเทียบกับสถานีตรวจวัดมาตรฐาน ในช่วงที่ฝุ่นมากจะทำให้ค่าที่ได้จากเซ็นเซอร์มีค่าที่มากเกินความเป็นจริง แต่ในสภาวะปกติจะมีค่าใกล้เคียงกับข้อมูลมาตรฐาน จึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเซ็นเซอร์ (Data Calibration) ด้วยวิธีต่างๆ เช่น XGBoost ที่ให้ค่าดีที่สุด ณ ปัจจุบัน สรุปได้ว่าความหนาแน่นของข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งเชิงพื้นที่และเชิงเวลา ทำให้มีข้อมูลจำนวนมากสำหรับการวิเคราะห์ การประมวลผลข้อมูลผ่าน Internet of Things (loT) และศักยภาพของ AI จะเพิ่มศักยภาพของการเฝ้าระวังและพยากรณ์ รวมทั้งประสิทธิผลของการดำเนินนโยบาย แต่จะต้องมีการปรับเทียบตามความเหมาะสม เพื่อลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลด้วย
คุณภัณฑิรา สะพานแก้ว กล่าวถึงการวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการใช้ Aerosol Optical Depth (AOD) ในการประมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 โดยนำข้อมูลมาจากดาวเทียม 4 ชนิด คือ Modis Aqua, MODIS Terra, Himawari AHI, และ SUOMI VIIRS ร่วมกับข้อมูลตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเข้า Machine Learning ในการประมาณค่า PM2.5 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะเป็นการเพิ่มวิธีการในการตรวจวัดฝุ่นที่จะมีต้นทุนน้อยลง และนำไปสู่การเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อนำไปสู่ค่าการตรวจวัดที่ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด
การเสวนา การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของประเทศไทย ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ : เป็นการกล่าวถึงการดำเนินการในอดีตที่เชื่อมโยงมาสู่ปัจจุบันและจะส่งผลอย่างไรต่อไปในอนาคต ตัวอย่างการวิจัยในวันนี้ อาทิ การศึกษา AOD เพื่อคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 , การใช้ภาพถ่ายทางอากาศและภาพดาวเทียมเข้ามาติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภาคส่วนของรัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประชาชนทั่วไป ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย และนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานให้ทุนอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ วช. ขอเรียนเชิญประชาชนทุกท่านร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษกับงาน “อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอนวัตกรรมและผลงานวิจัยอันล้ำสมัยที่น่าสนใจ พร้อมกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่สนใจเทคโนโลยีและอนาคตของประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้จนถึง 28 ก.ค. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
Print