วช. นำทีมนักวิจัย ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เร่งแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

  • 19 November 2023
  • Author: PMG
  • Number of views: 521
วช. นำทีมนักวิจัย ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เร่งแก้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการ “การวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ระยะ 3” โดยมี นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัย และ นายสุรพล สินจันอัด
รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลกุดเพียขอม
ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย คณะนักวิจัยจากบริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม คณะกรรมการองค์กรผู้ใช้น้ำ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดขอนแก่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2566 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลศรีบุญเรือง และองค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท และ สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลจริงที่ได้จากข้อมูลระบบสารสนเทศด้านการจัดการน้ำที่มีในตำบลนำมาใช้ในการประเมินประกอบการตัดสินใจเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีสู่การขยายผลของโครงการต่อยอดไปยังชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจากองค์กรผู้ใช้น้ำกับภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น และจังหวัดร่วมมือกันในการ
บูรณาการในทุกมิติสู่การวางแผนการใช้น้ำ ผ่านกลไกความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของชุมชนได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาชนมีน้ำใช้และทั่วถึงเพื่อรับมือวิกฤติภัยแล้งพื้นจังหวัดขอนแก่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการ “การวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น-จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดตัวอย่างเพื่อการประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและใช้วิทยาการพร้อมการขับเคลื่อน” เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เพื่อเป็นการขยายผลรูปธรรมการดำเนินงานการขับเคลื่อนองค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ดำเนินงานของชุมชนที่จะลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการจัดการน้ำของชุมชนโดยมุ่งเน้นไปที่จังหวัดน่านและจังหวัดขอนแก่นที่มีต้นทุนแกนนำชุมชน เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ ตลอดจนภาคีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมดำเนินการที่มีความพร้อม เพื่อค้นหาชุดความรู้ในการผลักดันรูปธรรมในพื้นที่ไปสู่การขยายผลการดำเนินงานในการจัดการน้ำทั้งจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอ และ จังหวัดน่าน 15 อำเภอ พร้อมกับเน้นการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในการผลักดันให้เกิดรูปธรรมการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ในระดับพื้นที่ไปสู่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตลอดจนคณะกรรมการลุ่มน้ำ พร้อมกันนั้นยังจะช่วยยกระดับพื้นที่รูปธรรมองค์กรผู้ใช้น้ำจาก 5 ตำบลในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดน่าน ให้เป็นตัวอย่างในการจัดการผังน้ำเชื่อมโยงกับการจัดการที่ดิน ผ่านระบบสารสนเทศด้านน้ำที่มีในตำบล ส่งข้อมูลกับให้องค์การบริหารส่วนตำบลและเจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและได้ข้อมูลจริงที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจจัดทำแผนน้ำของตำบลเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง สามารถนำแผนเข้าสู่ระบบ Thai Water Plan (TWP) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประเมินผลทางเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรผู้ใช้น้ำที่จะส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป

ต่อมา คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วย คณะนักวิจัย ลงพื้นที่ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาดูงานพื้นที่ตัวอย่างในการขยายผลการวางแผนน้ำชุมชนและการใช้ระบบสารสนเทศการจัดการน้ำชุมชนพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานของทีมวิจัยในพื้นที่
จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีคณะกรรมการองค์กรผู้ใช้น้ำ ตำบลศรีบุญเรือง แกนนำชุมชน ผู้บริหารองค์การบริหารส่วน ตำบลศรีบุญเรือง หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เข้าร่วมรับฟัง โดย นายสุชาติ พรมดี นายกองค์การบริหารตำบลศรีบุญเรือง ให้การต้อนรับ

จากนั้น คณะได้เดินทางไปยัง สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประสานงานกับทีมวิชาการในการจัดทำแผนน้ำท่วมและแก้ไขน้ำแล้ง จังหวัดขอนแก่น โดย ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน และคณะ ให้การต้อนรับ
ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาชุดความรู้และคู่มือที่จะช่วยคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยในการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นและจังหวัด ซึ่ง รศ.ดร.กิตติเวช ขันติยวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายถึง ระบบจัดการภัยพิบัติแบบอัจฉริยะ ที่ให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ บน Dashboard แหล่งรวมข้อมูลน้ำทั้งหมด ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ด้าน นายรุจติศักดิ์ รังษี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่จะช่วยเสริมการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด ผ่าน
การบูรณาการร่วมกัน และ ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ได้แลกเปลี่ยนบทเรียนและกระบวนการดำเนินงานวิจัย ในการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำผ่านกลไกหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดน่าน โดยการจัดตั้งองค์กรจัดการน้ำจังหวัดน่านขึ้น ข้อมูลทั้งหมดจะนำไปสู่การเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้สามารถมีขั้นตอนและวิธีการทำงานด้านการจัดทำแผนหลักน้ำจังหวัดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ใช้น้ำและภาคีหน่วยงานระดับท้องถิ่น - จังหวัด ในพื้นที่จังหวัดตัวอย่างเพื่อการประหยัดน้ำ ใช้น้ำคุ้มค่าและใช้วิทยาการพร้อมการขับเคลื่อน” ภายใต้โครงการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม เพื่อเพิ่มความสามารถและพัฒนากลไกในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น - จังหวัด ในการขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น พร้อมเข้าพบ นางสาวธนียา นัยพินิจ
รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังข้อเสนอในการใช้งานวิจัยและโจทย์วิจัยในอนาคต สู่การขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ต่อไป
Print
Tags: