วันที่ 17 ตุลาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย ร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 และกล่าวปาฐกถา เรื่อง “การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม (Towards Thailand Sustainability Research 2024” ณ หอประชุมพิบูลย์สุวรรณภูมิ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ โดยมีนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มองอนาคตประเทศไทยในการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม”
โดยมี ดร.สุทธิพงศ์ ยงค์กมล นายกสภาสถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ ดร.อนุสรณ์ นามประดิษฐ์ อธิการบดี พร้อมด้วคณะผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในเครือสารสาสน์ ให้การต้อนรับ
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอดีตรัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชน อาทิ โครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น นโยบายนมโรงเรียนที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีพัฒนาการทางสรีระแข็งแรงสมวัย ปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความล้ำหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น นวัตกรรม Al ที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้แพร่หลายอย่าง ChatGPT ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทย ส่งผลให้เกิดความสะดวกสบาย และเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น การศึกษาและการวิจัยจะต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง และสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล กล่าวถึง ภาพรวมระบบทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และทิศทางเป้าหมายของการสนับสนุนทุนวิจัยของ วช. ภายใต้นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (นางสาวศุภมาส อิศรภักดี) ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ต้องมีความมั่นคงในชีวิตและเศรษฐกิจ รวมถึงสอดคล้องกับแผนด้านการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566 - 2570
โดยการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม วช. ให้ความสำคัญกับกลไกการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมยกตัวอย่างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการนำไปแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ รวมทั้งเรื่องของการเพิ่มโอกาสและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก อาทิ การวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยบูรณาการทุกภาคส่วนเกิดนวัตกรรมในระดับข้อมูลสารสนเทศเพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ระบบ “น้องฟางข้าว” เพื่อลดมลพิษโดยการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่ง และการพัฒนาสัตว์เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสสู่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น
โดยภายในงาน มีกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิชาการและผลงานวิจัยมากว่า 100 เรื่อง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มรัฐประศาสนศาสตร์และบริหารธุรกิจ และกลุ่มผลงานวิชาการ/ผลงานวิจัยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ในรูปแบบ Oral Presentation และแบบ Poster Presentation
การเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจของ วช. ในฐานะหน่วยให้ทุนซึ่งคณะผู้บริหารและคณาจารย์ของสถาบันฯ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก