วช. ร่วมกับ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ลงนาม MOU พัฒนาทางวิชาการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอ้อยและน้ำตาล

วช. ร่วมกับ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ลงนาม MOU พัฒนาทางวิชาการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอ้อยและน้ำตาล





















วันที่ 27 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาทางวิชาการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอ้อยและน้ำตาล ร่วมกับ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด

เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และแก้ไขปัญหาของประเทศในด้านการผลิตอ้อยและน้ำตาล

ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนามกับ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด โดยมี นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 จาก วช. และ ผศ.ดร.สราวุธ รุ่งเมฆารัตน์ ผู้บริหารจัดการศูนย์กลางความรู้และเทคโนโลยีด้านอ้อยและน้ำตาล นางอัจฉรา งานทวี กรรมการ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด นางสาวสวามินี นวลแขกุล ผู้จัดการฝ่าย R&D and Innovation ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ วช. จึงได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านอ้อยและน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 - ปัจจุบัน โดยมีเครือข่ายวิจัยด้านอ้อยและน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 100 คน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศในด้านการผลิตอ้อยและน้ำตาล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ พันธุ์อ้อย การเพาะปลูกอ้อย การจัดการดินและธาตุอาหาร โรคและแมลง การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร กระบวนการผลิตน้ำตาล การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์อ้อยและน้ำตาล เพื่อนำไปสู่จัดทำนโยบาย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการทรัพยากร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาทางวิชาการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอ้อยและน้ำตาล ฉบับนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
Print